ขั้นตอนเรียนต่อ
ฝรั่งเศส: วีซ่านักเรียน

สมัครวีซ่าพำนักระยะยาวฝรั่งเศส ตอนที่ 3 แปลเอกสาร

share image

 หากดูรายการเอกสารที่จำเป็นในการใช้ยื่นวีซ่าพำนักระยะยาวประเทศฝรั่งเศสแล้ว จะเห็นว่ามีการขอเอกสาร ฉบับแปล หากต้นฉบับของเอกสารเหล่านั้นเป็นภาษาไทย ต้องมีการนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อนจึงสามารถใช้ยื่นได้ เช่น

 

- ใบรับรองทุนการศึกษา ฉบับแปล

- ประกาศนียบัตรการจบการศึกษา ฉบับแปล

 

ซึ่งโดยทั่วไปองค์กรที่มอบทุนการศึกษา และมหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษามักให้เอกสารฉบับภาษาอังกฤษมาด้วยอยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องเสียเงินไปจ้างแปล สามารถนำเอกสารที่ได้มาในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษยื่นได้เลย

(ถ้าใครที่เปลี่ยนชื่อมาหลายๆครั้ง อย่าลืมนำใบยืนยันการเปลี่ยนชื่อไปแปลด้วยนะ)

 

ข้อควรระวัง!!!

ถึงแม้ไม่มีอยู่ในรายการเอกสารที่จำเป็น นักเรียนที่จะไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสมักโดนขอให้ยื่น “Birth certificate with translation” เพิ่มเติม ซึ่งก็คือ ใบเกิดและฉบับแปล ซึ่งในกรณีของเรา เดาว่าทางสถานทูตฯ ขอใบเกิดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความสัมพันธ์ของพ่อและแม่ซึ่งเป็นผู้เซ็น Financial Guarantee Letter ใบค้ำประกันส่งเสียค่าเล่าเรียน

 

 

  1. แปลภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้การยื่นเพื่อขอวีซ่าไม่ได้ระบุว่าจะต้องใช้ใบแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ดังนั้นเราสามารถโหลดตัวอย่างคำแปลแบบฟอร์มเอกสารราชการ และดูคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ควรทราบและใช้ในการแปลอยู่เสมอจากเว็บไซต์ของกรมการกงศุลมาแปลด้วยตัวเองก็ได้ค่ะ แต่หลังจากแปลแล้วต้องนำเอกสารที่เราแปลด้วยตัวเองไปรับรองการแปลและรับรองสำเนาเอกสารฉบับจริงที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล อีกที โดยบริการรับรองเอกสารแบบปกติใช้เวลา 3 วันทำการ แต่ถ้าใครไม่อยากรอนานสามารถใช้บริการด่วน ที่จะได้รับเอกสารคืนภายในวันที่ยื่นเอกสาร แต่ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสูงขึ้นอีก 1 เท่าตัว ถ้าใครเลือกใช้บริการด่วน ควร save ไฟล์ใส่ handydrive หรือนำคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คติดตัวไปด้วย เพราะบางครั้งเราอาจมีรายละเอียดที่แปลผิดพลาดเอง จะได้สามารถแก้ไขและไปจ้างปริ๊นท์แถวนั้นแล้วยื่นฉบับแก้กลับภายในวันเดียวกันได้เลย ถ้าใครอยากให้ชัวร์ๆไปเลย ไม่ต้องมีการแก้ไข ก็สามารถใช้บริการแปลเอกสารของศูนย์แปลที่อยู่ในกรมการกงสุลได้เลยค่ะ ลองมองหาป้ายว่าศูนย์แปลอยู่ชั้นใดแล้วไปใช้บริการดู นอกจากนี้แถวๆนั้นจะมีนักแปลฟรีแลนซ์มายืนดักรอเราเยอะนะคะ เขาจะมาถามว่าสนใจแปลเอกสารหรือเปล่า ก็ต้องระวังให้ดีค่ะ ไม่แน่ใจว่าชัวร์หรือมั่วนิ่ม และไม่แน่ใจว่าจะโก่งราคากันหรือเปล่า ถ้าเราแปลเอกสารมาเองแล้วก็ตอบปฏิเสธอย่างมั่นใจ แล้วมุ่งตรงไม่ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุลได้เลยค่ะ เพราะบางทีเมื่อเราทำเป็นงงๆ นักแปลฟรีแลนซ์ก็จะมายื่นขอเสนอให้เขาจ้างยื่นเอกสารแทน

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับรองแปลเอกสารและค่าธรรมเนียมได้ที่เว็บไซต์ของกรมการกงสุล

 

 


2. แปลภาษาฝรั่งเศส

 

สำหรับนักเรียนอายุต่ำกว่า 28 ปีที่จะไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ต้องเตรียมใบเกิดฉบับแปลภาษาฝรั่งเศสไปใช้ยื่นสมัคร Sécurité Sociale หรือประกันสังคมซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนต่างชาติ (ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกประเทศใน EU) จำเป็นต้องสมัครทุกคน เชื่อว่าโรงเรียนของแต่ละคนน่าจะบอกรายละเอียดส่วนนี้หลังจากได้รับใบตอบรับเข้าเรียนแล้ว (หากเพื่อนๆต้องใช้ใบเกิดฉบับแปลเพื่อยื่นสมัคร Sécurité Sociale อยู่แล้ว เมื่อสถานทูตขอเอกสารเพิ่มเติมตอนสมัครวีซ่า ก็ยื่นสำเนาฉบับแปลฝรั่งเศสไปเลยก็ได้ ไม่ต้องเสียเงินแปลทั้งอังกฤษ ทั้งฝรั่งเศส 2 ตลบ)  


 

2.1 ขั้นตอนแรกของการเตรียมเอกสารฉบับแปลฝรั่งเศสคือ นำสำเนาใบเกิดภาษาไทยไปรับรองสำเนาเอกสารที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล  การรับรองสำเนาแบบนี้ไม่ใช่การเซ็นสำเนาถูกต้องด้วยตัวเราเอง แต่เป็นการเอาเอกสารต้นฉบับและสำเนาไปให้กรมการกงสุลเปรียบเทียบดูและประทับตรารับรองของกระทรวงต่างประเทศ ว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้องได้รับการรับรองตามกฎหมาย

 

ตัวอย่างตรารับรองสำเนา สลักหลังสำเนาภาษาไทย


 

2.2 หลังจากนั้น ให้เราเอาสำเนาที่ได้รับการรับรองแล้ว ไปจ้างแปลโดยใช้สถาบันภาษาหรือนักแปลที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลฝรั่งเศส ราคาของแต่ละที่ก็แตกต่างกันออกไป ต้องลองโทรไปถามเปรียบเทียบดูเอง บางที่ก็มีบริการส่งสำเนาไปให้แปลทางอีเมล และส่งเอกสารฉบับแปลกลับทางไปรษณีย์ โดยระยะเวลาในการแปลก็แตกต่างกันออกไปเช่นกันค่ะ


 

2.3 ต่อมาให้นำสำเนาที่ได้รับการประทับตรารับรองจากกงศุลแนบใบแปลภาษาฝรั่งเศส ไปให้สถานทูตฝรั่งเศสรับรองคำแปลอีกที สามารถใช่บริการได้โดยไม่ต้องนัดเวลาจองล่วงหน้า ภายในช่วงเวลา 08.30-12.00 น. อย่าลืมนำใบตอบรับจากโรงเรียนติดตัวไปด้วยนะคะ ตอนเรายื่นเคยได้ส่วนลดราคานักเรียน

 

มีหลายคนที่เมื่อเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศส โดนหน่วยงาน Sécurité Sociale ขอให้ส่งเอกสารมาใหม่ เพราะยื่นเอกสารฉบับแปลฝรั่งเศสไปอย่างเดียว แล้วเข้าใจผิดว่าสถาบันภาษาที่จ้างแปลนั้นแปลมาไม่ดี อันที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจผิดและรู้เท่าไม่ถึงการ เนื่องจากใบแปลฝรั่งเศสจะนำใช้งานที่ฝรั่งเศสได้จริง ก็ต่อเมื่อทำการยื่นรับรองคำแปลกับสถานทูตฝรั่งเศสในไทยพร้อมใบรับรองสำเนาจากกรมการกงสุลแล้วเท่านั้น

< บทความก่อนหน้า

ตอนที่ 2.3 การกรอกแบบฟอร์มนักเรียนและการเตรียมรูปถ่าย

บทความถัดไป >

ตอนที่ 4 เอกสารรับรองที่พัก

 

บทความชุด “สมัครวีซ่าพำนักระยะยาวฝรั่งเศส” มีทั้งหมด 7 ตอน ดังนี้

< ตอนที่ 1 รายการเอกสารที่จำเป็น

< ตอนที่ 2.1 การกรอกแบบฟอร์ม Visa

< ตอนที่ 2.2 การกรอกแบบฟอร์ม OFII

< ตอนที่ 2.3 การกรอกแบบฟอร์มนักเรียนและการเตรียมรูปถ่าย

< ตอนที่ 3 การแปลเอกสาร

< ตอนที่ 4 เอกสารรับรองที่พัก

< ตอนที่ 5  Financial Guarantee Letter

 

*หมายเหตุ: รายละเอียดข้อมูลและเอกสารที่ใช้สมัครวีซ่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ผู้สมัครควรตรวจสอบข้อมูลกับทางสถานทูตฝรั่งเศสอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง