
เส้นทางการเรียนของแจ๊บ สุธาภัทร สังข์เอี่ยม อาจไม่ต่างอะไรกับการนั่งโรลเลอร์โคสเตอร์ จากการเป็นเด็กวิทย์หัวใจศิลป์ที่ยังไม่มีความมั่นใจในตัวเอง คิดว่าเรียนอะไรก็ได้ที่จบไปให้มีงานมั่นคง ความคิดนั้นจึงพาแจ๊บไปลงเอยที่สาขากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แต่เมื่อโตขึ้น ประสบการณ์ ความคิด ความมั่นใจ และแพชชัน จึงทำให้แจ๊บสมัครเรียนต่อปริญญาโทและได้ทุนที่ Renmin University of China ในสาขา Chinese philosophy, religion, and culture ที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีน
“เอาจริงอะ อยากกลับไปหยิกข้างท้องตัวเองสมัยเลือกเรียนต่อมาก อยากให้มั่นใจและเชื่อในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่าตกเป็นเหยื่อทางความคิดและแบบนิยม”
รู้จักทุนนี้ได้อย่างไร
เริ่มแรกเลยคือรู้จักทุนของจีนผ่านทางกลุ่มเฟสบุ๊คที่ชื่อว่า “Thai CSC” เป็นกลุ่มที่คอยแชร์ข่าวสารทุนของทางประเทศจีน ข้อมูล และเทคนิคต่างๆ อีกช่องทางที่รู้จักทุนก็คือเว็บไซต์ของฝ่ายนักศึกษาต่างชาติของมหาวิทยาลัยที่ผมเลือกจะสมัครครับ ช่วงประมาณสิ้นๆ ก็มหาวิทยาลัยทั้งหลายในจีนก็จะเริ่มประกาศครับ ซึ่งต้องบอกตรงนี้ก่อนว่าทุนแรกที่ผมสมัครไปเป็นทุนของรัฐบาลจีน หรือ Chinese Government Scholarship (CSC) แต่ในตอนหลังทางคณะได้เสนอทุนอื่นอีก 2 ทุนให้แทนเนื่องจากที่ว่างของทุนรัฐบาลจีนมีค่อนข้างจำกัด
ทำไมต้องไปจีน
สำหรับผมมี 2 ปัจจัยหลักๆ ที่ตัดสินใจเลือกไปศึกษาต่อที่จีน แทนที่จะเลือกไปฝั่งตะวันตกอย่างอังกฤษหรืออเมริกา
ปัจจัยแรกคือสาขาที่ต้องการเรียน แน่นอนว่าชื่อสาขาก็มาเป็นปรัชญาและศาสนาจีนขนานนั้นแล้ว การที่ได้เรียนในแหล่งกำเนิดแนวความคิดนั้นๆ ก็จะมีความดั้งเดิมในตัวของมันอยู่ อีกอย่างคือมหาวิทยาลัยที่ผมศึกษาอยู่ค่อนข้างดังเรื่องทางปรัชญาและศาสนา ถึงกับมีคณะปรัชญาแยกออกมา ทำให้กลายเป็นอันดับต้นๆ ในการเลือกเรียนต่อ นอกจากนั้นแล้วการที่เราเรียนแล้วอยู่ในสังคมๆนั้น ได้สังเกต วิเคราะห์จากสิ่งที่เราเรียนมาแล้วเนี่ย ผมเชื่อว่ามันทำให้เราเข้าใจหลายๆอย่างและอินไปกับสิ่งที่เราเรียนได้มากที่สุด
ปัจจัยที่สองคือโอกาส ทางจีนเค้าเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้เข้ามาเรียนที่จีนเยอะมาก (มากจริงๆ) ด้วยทุนต่างๆ ที่ช่วยเหลือทั้งค่าเทอม ค่าที่พัก หรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายส่วนตัวในแต่ละเดือน อีกอย่างคือไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ด้วย ในความจริงตอนแรกก็ลังเลอยากไปทางฝั่งตะวันตกมาก ยุโรปและอเมริกา แต่ด้วยปัจจัยที่บอกไปข้างต้นครับ มันทำให้จีนกลายเป็นอันดับ 1 ในลิสของผมที่เลือกเรียนต่อ
ทำไมถึงเลือกไปเรียนสาขานี้ ที่มหาวิทยาลัยนี้
ด้วยส่วนตัวแล้วเป็นคนที่อินกับเรื่องอะไรแบบนี้มากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของศาสนา สำหรับผม ศาสนาเป็นสิ่งที่พิเศษและน่าสนใจมากๆ ในการมีบทบาทและมีอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความคิดของคน การเมืองการปกครอง หรือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสังคม เรียกได้ว่ามันได้เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่กับเราตั้งแต่เกิดไปจนตาย และอยู่กับมนุษย์เรามาเป็นพันๆ ปีแล้วและยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ การมองจากมุมที่เห็นว่าศาสนาทำอะไรกับมนุษย์และทำได้อย่างไร เป็นเสน่ห์และแรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสาขานี้ครับ และอาจจะมีถามต่ออีกว่าทำไมต้องปรัชญาและศาสนาจีน สำหรับผมมีความสนใจส่วนตัวในด้านนี้ และอารยธรรมจีนในด้านของปรัชญาและศาสนากำเนิดมานานมากและมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากๆ เอาจริงๆ คือตอนแรกอยากเรียนแค่ศาสนาแต่ด้วยความที่หลักสูตรเน้นทั้งศาสนาและปรัชญาจึงได้มีโอกาสศึกษาปรัชญาจีนไปในตัวด้วยครับ
ส่วนเหตุผลในเรื่องของมหาวิทยาลัยนั้น ตอบได้เลยเพราะมหาวิทยาลัยนี้ค่อนข้างดังในสายสังคม โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ผมมองถึงโอกาสที่จะไปต่อ ซึ่งถ้าเรามาในที่นี้แล้วนอกจาก connection ต่างๆ ที่เราจะได้ ความรู้ที่ได้ก็ไม่น้อยเช่นเดียวกันครับ และเปิดหลักสูตรนี้โดยใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ออกแบบมาเพื่อผู้ที่สนใจ แต่ทักษะภาษาจีนไม่ได้ดีพอที่จะเรียนหลักสูตรภาษาจีนได้
เรียนหลักสูตรอังกฤษในจีนเป็นยังไง
ด้วยความที่เรียนหลักสูตรอังกฤษจึงไม่ได้ใช้ทักษะภาษาจีนเยอะมาก ส่วนมากจะใช้จีนโบราณมากกว่าในการเรียนวิชาปรัชญา วิชาศาสนา ก็จะรู้ concept คร่าวๆ มากกว่า ไม่ได้ใช้แบบคล่องปรื๋อขนานที่ discuss ในห้องเรียนได้
ตอนแรกก็แอบกังวลว่ามันจะออกมาแนวไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนียงจะออกไปแนวไหน สรุปที่ได้มาเรียนที่นี่โอเคมากๆ นะครับ อาจารย์ก็มีทั้งที่เป็นคนต่างชาติจากตะวันตก และอาจารย์คนจีนที่เคยไปเรียนและสอนที่มหาลัยที่ยุโรปหรืออเมริกา เอาจริงคือทำให้เครียดไปเลยดีกว่า (5555555) ด้วยความที่ก่อนไปก็คิดนะว่าภาษาอังกฤษเราก็ถือว่าโอเคระดับหนึ่งแล้ว ปรากฎคือ โอ้โหหหหหหห (ต้องพูดคำนี้เลย) ทั้งเรื่องการเขียนเชิงวิชาการและภาษาที่ใช้ผมกลายเป็นฝุ่นมากกกก 😂
การเตรียมตัว
สำหรับของผมการเตรียมขอทุนไม่ค่อยซับซ้อนเท่ากับทุนที่ได้มาครับ (หัวเราะ) แต่ก็ถือว่าช่วงเตรียมเอกสารเป็นอะไรที่เหนื่อยสุดแล้วในการสมัครทุน
การเตรียมตัวของผมเริ่มแรกเลยก็หาหลักสูตรที่ตัวเองต้องการเรียน กับมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนก่อน ดูข้อมูลว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง มหาลัยค่อนข้างเด่นเรื่องไหน อันดับของมหาวิทยาลัยในด้านที่จะเรียน จากนั้นก็ไปติดต่อไปทาง program coordinator สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการข้ามสายที่เรียนจากทางด้านสุขภาพไปด้านปรัชญาและศาสนา ว่าทางมหาวิทยาลัยจะรับพิจารณาไหม รวมไปถึงเรียนทุนการศึกษาด้วยครับ พอได้ข้อมูลทั้งหมดมา ผมก็มาเตรียมเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้ในการสมัคร เช่น วุฒิการศึกษา, Statement of purpose, จดหมายแนะนำจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยตอนปริญญาตรี และผลวัดระดับทางภาษาครับ ในส่วนนี้ก็ต้องขอบคุณข้อมูลจากกลุ่ม Thai CSC ซึ่งช่วยเรื่องข้อมูลเอกสารต่างๆได้เยอะมาก
พอเราเตรียมเอกสารต่างๆ เรียบร้อยแล้วก็ส่งไปรษณีย์ไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้เค้าพิจารณาขั้นแรกซึ่งอย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้คือจริงๆ ผมยื่นทุนที่เป็นของรัฐบาลจีน (CSC) ไป เนี่องจากตอนนั้นที่เค้าประกาศเปิดรับหลักๆ จะเป็นทุน CSC แต่ภายหลังขั้นตอนการพิจารณาเข้าเรียนต่อ อาจารย์ที่ดูแลหลักสูตรเสนออีกสองทุนมาให้ คือ ทุนจากคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัย ช่วยเหลือในเรื่องค่าเทอมทั้งหลักสูตร และอีกทุนเป็นทุนจาก Center of International Buddhist Studies ของทางมหาวิทยาลัย โดยการมอบเงินก้อนมาให้ในแต่ละปีการศึกษา มาให้เราจัดการเองในเรื่องของค่าที่พักและค่าใช้จ่ายส่วนในชีวิตประจำวัน ครับ (ต้องขอบคุณทางคณะ และศูนย์ระพุทธของทางมหาลัยมาก)
การสัมภาษณ์
หลังจากที่เราส่งเอกสารทั้งหมดไปที่มหาวิทยาลัย เค้าจะทำการคัดเลือกรอบแรกจากเอกสารที่เราส่งไปให้เค้า โดยเฉพาะตัว Study plan หรือ ตัว Statement of purpose ครับ จากนั้นหากเราผ่านการคัดเลือกให้เข้ารอบต่อไปแล้วเค้าจะติดต่อกลับมาเผื่อทำการนัดวันสัมภาษณ์ผ่านทางวิดีโอคอลครับ สำหรับการสัมภาษณ์ของผม ถ้าถามว่ายากไหม ตอบได้เลยว่าไม่ เหมือนมาคุยกันเล่นๆมากกว่า ถึงแม้ในวันสัมภาษณ์มีอาจารย์อยู่เต็มไปหมด ทั้งมาสังเกตการณ์และมาเป็นกรรมการ แต่เนื้อหาและสถานการณ์คือชิวมากก ไม่กดดันเลยครับ
หลักเค้าก็ให้แนะนำตัวคร่าวๆ เค้าก็เปิดตัว Statement of purpose ของเรา แล้วไล่ถามตามที่เราเขียนไป อย่างผมเน้นเขียนเรื่องความสนใจในการเรียนศาสนาต่างๆ และเขียนเรื่องประสบการณ์ในการไปฝึกงานมาเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทยซึ่งทำให้ได้เข้าไปอยู่ในสังคมแต่ละสังคมที่มีศาสนาหลายๆ ศาสนาเข้ามาขับเคลื่อนและมีบทบาทสำคัญ
เค้าก็ถามว่าทำไมต้องศาสนา นับถือศาสนาไหม ทำไมถึงเคลมตัวเองว่าไม่มีศาสนาแต่สนใจทางพระพุทธศาสนา และก็มีคำถามเกี่ยวกับการเรียนครับ เช่น ได้อ่านข้อมูลหลักสูตรหรือยัง อยากเรียนวิชาไหนมากที่สุด มีความรู้เกี่ยวกับนักปรัชญาจีนไหม เล่าแนวความคิดของเค้าคร่าวๆ ให้ฟังหน่อยได้ไหม (ซึ่งตอนนั้นเหวอมาก เพราะเตรียมไปแค่คนเดียวและรู้แบบงูๆ ปลาๆ อีก เค้าก็ถามเรื่อยจนตอบไม่ได้ เค้าก็หัวเราะว่าไม่เป็นไร) และคำถามเบสิคทั่วไปเช่น เคยมาจีนไหม ทำไมต้องเป็นจีน จะปรับตัวได้ไหมหากมาเรียนต่อ แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันมีคำถามที่พีคสุดในการสัมภาษณ์ คือคำถามเบสิค “สิ่งที่เรียนมาตอนปริญญาตรีมีความสัมพันธ์อะไรกับหลักสูตรที่สมัคร” สตั๊นมาก ณ ขณะนั้น เพราะเอาจริงมันแปลกนะ จบกายภาพแต่มายื่นต่อปริญญาโททางด้านนี้ แต่สุดท้ายก็พยายามเชื่อมโยงทุกอย่างจนกรรมการเค้ายิ้มได้
ทำไมตัวเองถึงได้ทุนนี้
ถ้าสำหรับผม การได้ทุนนี้ถือว่ายากเพราะจบมาไม่ตรงสายเลย รวมถึงรายวิชาที่เรียนในตอนปริญญาตรีมีความเกี่ยวข้องก็แค่ 1-2 ตัว แต่ด้วยความที่เรามี passion เกินร้อยในสิ่งที่เราจะเรียน รู้ว่าตัวเองอยากเรียนจริงๆ และสามารถทำให้เค้ามองเห็นสิ่งที่เราพยายามสื่อออกมาให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการเป็นตัวของตัวเองที่ไม่มีใครเหมือน เพราะเอาจริงๆ เลยผมไม่ได้เก่งเลยในเรื่องของ knowledge เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่นๆ แต่ด้วยความหลงไหล แรงบันดาลใจ และความพร้อมที่จะเรียนในสิ่งใหม่ๆ ทำให้ผมคว้าทุนนี้มาได้ครับ
หลังจากได้ทุนแล้วต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
หลังจากที่ประกาศมาแล้วว่าได้ทุน สิ่งที่เตรียมตัวเลยคือหาข้อมูลพื้นฐานในสิ่งที่เราจะเรียน เช่น เบสิคต่างๆ ในปรัชญาจีน หัวข้อที่เราสนใจเป็นพิเศษ เผื่อไว้ตอนเปิดเทอมไปจะได้ไม่ไปนั่งตาลอยในห้องเรียน (แต่เอาจริงคือยังลอยอยู่ดี😂) หาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและเมืองที่เราจะไปเรียน อากาศ การแต่งตัวต่างๆ จากนั้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคมเค้าจะส่งแพ็คเกจมาที่ไทย ในนั้นก็เป็นใบขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ข้อมูลที่ควรรู้ สิ่งที่ต้องทำในขั้นตอนถัดๆ ไป และใบที่ใช้ขอวีซ่านักเรียน หลังจากเตรียมเอกสารต่างๆ ลงทะเบียนจองหอ ซื้อตั๋วเครื่องบินต่างๆ ก็เตรียมของอีกทีในไปใช้ชีวิตที่นั่น พวกเสื้อผ้ากันหนาว รวมไปถึงเครื่องปรุงอาหารไทยต่างๆ ที่ได้ใช้ทำอาหารตอนคิดถึงอาหารไทยหรือต้องการผูกมิตรกับเพื่อนต่างชาติ
การเรียนที่จีนต่างกับที่ไทยยังไง
สำหรับผม ผมว่าต่างมากๆเลยนะ เท่าที่ได้เข้าทั้งคลาสที่มีแต่นักศึกษาต่างชาติ และคลาสที่มีคนจีนมาเรียนด้วย หลักๆการเรียนที่นี่จะเป็นคลาสเปิดมากๆ เปิดในที่นี้หมายถึงเปิดให้แสดงออกและ discuss กันได้เต็มที่ ทุกคนต้องแสดงความคิดเห็นในมุมมองของตัวเอง มันไม่ใช่แค่แบบมานั่งเรียนเลคเชอร์ จดๆๆๆ แล้วก็กลับ แต่นี่เหมือนเวลาอาจารย์เปิดหัวข้อมา สอนๆ อยู่เค้าจะถามมาเป็นคนละว่าเห็นด้วยไหม หรือใครมีไอเดียอะไรเพิ่มเติมหรืออยากแย้งไหม คลาสบางคลาสก็จะประหนึ่งราวกับสมรภูมิรบเลยทีเดียว และอีกอย่างที่ต่างมากคือการที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเข้าคลาสนั้นๆ การอ่านหนังสือถือว่ากลายมาเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของผมเลยทีเดียวในขณะที่ตอนปริญญาตรีแตะมากๆ แค่ตอนจะสอบ และอีกอย่างที่อยากจะแชร์คือด้วยความที่ในห้องเรียนมันเป็นห้องเรียนที่มีนักศึกษาหลายๆ ชาติมาเรียนร่วมกัน มันทำให้เห็นมุมมองและความรู้ที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเรื่องนี้ผมว่าถือว่าเป็นความต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างการเรียนที่จีนและเรียนที่ไทยครับ
ต้องปรับตัวยังไงในการใช้ชีวิตที่จีน
เรื่องปรับตัวนี่ในการใช้ชีวิตไม่ได้ปรับอะไรเยอะมากครับ ด้วยความที่เป็นคนอยู่ง่ายกินง่ายอยู่แล้ว และถือคติว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” พยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับสังคมให้ได้มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นถ่มน้ำลายลงพื้นตามเค้านะครับ 55555
ส่วนที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในการปรับตัวคืออากาศครับ ปักกิ่งหน้าหนาวคือที่สุด ไม่ได้หมายความว่าอากาศที่หนาวเหน็บอย่างเดียวนะครับ อากาศปักกิ่งแห้งมากกก (อยากใส่ ก เพิ่มแต่เกรงใจ) ช่วงแรกๆ ตื่นมาตาแห้งคอแห้งแสบโพรงจมูกทุกวันเลย แถมด้วยมลพิษ pm 2.5 ครับเนื่องจากการเปิดเครื่องทำความร้อนในอาคารของปักกิ่ง แต่พอหลังๆ มาเหมือนร่างกายชินมากขึ้น ก็ไม่มีปัญหาอะไรมากครับ (หัวเราะแห้ง) และอีกส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างยากในการปรับ แต่ก็ยังปรับได้ คือการอยู่ร่วมกันกับคนที่มาจากหลายๆ ชาติ เพราะทั้งรูมเมท เพื่อนร่วมห้อง เพื่อนในกลุ่มที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน ต่างคนต่างมาจากหลายๆชาติ หลายๆที่ เช่น ยุโรป อเมริกา หรือโซนเอเชีย ทำให้ช่วงแรกๆในการปรับตัวอาจจะมีแบบว่า เอ๊ะ ทำไมแบบนู้น แบบนี้ไปบ้าง แต่สุดท้ายก็ปรับเข้าหาได้และสนิทกันสุดๆครับ 😄
กิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง
กิจกรรมของทางมหาลัยมีเยอะมาก พวกกิจกรรมชมรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นชมรมทางด้านกีฬา ทางด้านวัฒนธรรม เช่น กู่เจิง ชมรมอุปรากรจีน หรือพวกชมรมทางด้านแนวความคิดก็มีนะ รวมไปถึงกิจกรรมที่ทางกลุ่มนักศึกษาจีนจัดเพื่อนักศึกษาต่างชาติ เช่น การจัดทริปไปเที่ยวตามที่ต่างๆ การเป็นอาสาสมัครไปสถานรับเลี้ยงเด็กพิเศษในปักกิ่ง การสอนเขียนพู่กันจีน หรือแม้กระทั่งเปิดการติวสอบการวัดระดับภาษาจีนให้กับนักศึกษาต่างชาติอีกด้วย ส่วนตัวกิจกรรมที่ผมชอบจะเป็น English corner ซึ่งจัดทุกคืนวันศุกร์ที่ลานน้ำพุของมหาวิทยาลัย จะเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้คนจีนได้ใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติในการคุยเรื่องต่างๆ ไม่ใช่แค่นักศึกษาของทางมหาวิทยาลัย ยังมีคนทั่วไปทั้งลุงๆ ป้าๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น หรือแม้กระทั่งเด็กประถม-มัธยม ก็มักจะมาเข้าร่วมอยู่เป็นประจำครับ
5 สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำเวลาหาทุนหรือสมัครทุน
สิ่งที่ควรทำ
- หาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรที่จะเรียนและทุนที่จะมัน support ให้ดีก่อน ให้มั่นใจว่าเราต้องการเรียนต่อจริงๆนะ ไม่ควรเอาแบบว่าตอบได้แค่อยากเรียนต่อ อยากไปต่างประเทศ มันจะส่งผลอย่างมากในตอนที่เราสัมภาษณ์กับทางมหาวิทยาลัย อีกอย่างคือเรื่องทุน ว่าครอบคลุมอะไรบ้าง ติดพันธะอะไรไหม หรือถ้าไม่ใช่ทุนเต็มจำนวน เราจะสามารถรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เหลือได้ไหม
- ทำ Statement of purpose ให้สื่อสิ่งที่เราต้องการจะบอกกับคนที่พิจารณาให้ได้มากที่สุด มันเป็นด่านแรกในการที่จะผ่านด่านเข้าไปถัดๆ ไป (ร่วมกับเกรดหรือผลวัดระดับทางภาษาต่างๆ) ผมว่าใครๆ ก็สามารถเขียนให้ดี แกรมม่าถูกต้อง ใช้คำสวยงามได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเนื้อหาข้างในที่เราเขียนออกมาครับ
- ไม่ประเมินค่าตัวเองต่ำไปหรือสูงไป ความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ถ้ามั่นใจไปทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ทำให้เกิดปัญหาได้ เช่นการเลือกมหาวิทยาลัย เราควรรู้ลิมิตของตัวเองว่าที่ไหนจะมีโอกาสมากกว่ากัน แต่ไม่ใช่ประเมินตัวเองต่ำไปจนไม่กล้าจะยื่นมหาวิทยาลัยดีๆ ที่หวังไว้ มองหลักความเป็นจริงและอีกอย่างถ้ายื่นแต่โอกาสน้อย อย่างน้อยก็มีโอกาสกว่าไม่ได้ยื่นอะไรเลย
- ควรมีแผนสำรองอยู่เสมอ การขอทุนเป็นอะไรที่เราคาดเดาไม่ได้ครับ บางทีถึงแม้ว่าโปรไฟล์ดีมาก มั่นใจมากยังไงก็ได้ แต่เค้าดันสนใจอีกคนมากกว่า หากเราไม่มีการวางแผนสำรองมันจะลำบากครับต้องมานั่งคิดนู้นนี่ว่าจะทำยังไงต่อดี ผมว่าควรมีไว้เผื่อไม่ได้ ชีวิตจะดีขึ้นเยอะถ้ามีแผนสำรองไว้
- ปรึกษากับอาจารย์ หรือคนที่ให้คำปรึกษาได้ บางทีการเล่าให้คนอื่นฟังเพื่อขอคำปรึกษา มักจะได้อะไรในมุมมองใหม่ที่เรามองไม่เห็นครับ
ไม่ควรทำ
- พูดว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยทำ ค่อยจัดการ แนะนำว่าเจอเป้าหมายแล้วเตรียมพุ่งชนตั้งแต่เนิ่นๆ แปปๆ มันจะกลายเป็นงานไฟไหม้ได้ (เจอกับตัวเองมา😂)
- แคร์กับความคิดคนอื่นยกเว้นความคิดตัวเอง การรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ควรใช้การคิดพิจารณา ชั่งน้ำหนักให้ดีด้วย อย่าให้มันขึ้นอยู่กับความคิดคนอื่นมากไป แต่ก็ไม่ใช่ไม่รับฟังเลยนะครับ
- กลัว หากต้องไปเรียนและใช้ชีวิตต่างประเทศคนเดียว
- ไม่ควรยึดติดครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ หรือมหาวิทยาลัยที่จะเลือกเรียน (แต่ก็ไม่ใช่เห็นอะไรได้ง่ายก็สมัครไปหมด)
- ปิดกั้นตัวเอง เช่น สนใจมากในสาขานี้ มหาลัยนี้ แต่ “เค้าว่ากันว่า” มันไม่ดีอย่างนู้นอย่างนี้ เอาจริงคือทุกอย่างมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีแหละครับ ขึ้นอยู่กับมุมมองของคน และเราไม่ควรฟังแค่ด้านๆ เดียวหรือจากมุมมองของคนแค่บางกลุ่มครับ
- ทุนดี ไม่ใช่อยู่แค่จำนวนเงิน: สัมภาษณ์นักเรียนทุน เจาะลึกเส้นทางพิชิตทุนก.พ.
- สืบเทคนิคจากประสบการณ์จริง ทำอย่างไรให้ได้ ‘ทุน’ !