
5 ข้อผิดพลาดทางการเงินของนักเรียนนอกที่พบบ่อยที่สุด
การไปเรียนต่อเมืองนอกนอกจากจะต้องทุ่มเททั้งแรงสมองและแรงใจแล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ โดยเฉพาะคนที่ควักกระเป๋าออกเงินไปเรียนต่อด้วยตัวเอง ยิ่งต้องคำนึงถึงเรื่องเงินมากเป็นพิเศษ ฉะนั้น ลองมาเรียนรู้จากประสบการณ์ของนักเรียนนอกรุ่นพี่ดูว่า 5 ข้อผิดพลาดทางการเงินของนักเรียนนอกที่พบบ่อยที่สุดมีอะไรบ้าง เราจะได้ไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอยและเหลือเงินสำหรับการแฮงค์เอาท์มากขึ้น
1. มองข้ามข้อเสนอจากธนาคาร
ในช่วงแรกของการเป็นนักศึกษาใหม่ ธนาคารหลายแห่งมักมีข้อเสนอสุดพิเศษเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินสำหรับนักศึกษาโดยเฉพาะ ตัวอย่างโปรโมชั่นที่ผ่านมาก็เช่น ธนาคาร Santander เสนอมอบบัตร 16-25 Railcard ให้กับนักศึกษาที่เปิดบัญชีฟรี บัตรนี้สามารถใช้เป็นส่วนลดค่ารถไฟในการเดินทางไปเรียนหรือไปท่องเที่ยวได้ ยิ่งถ้าใช้ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หรือ Off Peak ก็จะช่วยประหยัดค่าตั๋วไปได้มากโขทีเดียว หรือธนาคาร Lloyds TSB ที่เสนอมอบบัตร NUS Extra card ให้กับนักศึกษาที่เปิดบัญชีฟรี บัตรนี้สามารถใช้ลดราคาในร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งโปรโมชั่นเหล่านี้มักจะเสนอให้ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการเปิดเทอมเท่านั้น
2. ใช้บัญชีที่สามารถเบิกวงเงินเกิน (Over Draft) ได้สูง
บัญชี Over Draft คือบัญชีที่สามารถเบิกเงินสำรองจากธนาคารออกมาใช้ก่อนได้ โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนด มองเผินๆ การมีบัญชีที่สามารถเบิกวงเงินเกินได้ก็ถือเป็นเรื่องดีที่เราจะมีแหล่งเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ถึงแม้เราอาจไม่ได้กะว่าจะเบิกออกมาใช้เลยก็ตาม แต่ส่วนใหญ่บัญชีประเภทนี้มักมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าปกติ อย่างเช่นถ้าเปิดบัญชีนักศึกษากับ ธนาคาร Santander จะได้รับวงเงินเบิกเกินบัญชี 250 ปอนด์ แต่ถ้าต้องการเพิ่มวงเงินเป็น 1,000 ปอนด์ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นราว 500 ปอนด์ ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สูงทีเดียว ทางที่ดีจึงควรทำบัญชีรายรับรายจ่ายและวางแผนการเงินในแต่ละเดือนอย่างรอบคอบดีกว่า จะได้ไม่ต้องเบิกเกินบัญชีจนเสียค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยมหาโหด
3. ใช้จ่ายเงินกู้ยืมหรือทุนการศึกษาทันทีที่ได้รับ
นักศึกษาส่วนใหญ่ที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาหรือได้รับทุนการศึกษา เมื่อได้รับเงินมาก็มักจะนำเงินไปใช้ทันทีโดยขาดการวางแผน บางคนแทบจะใช้เงินเหล่านั้นหมดไปตั้งแต่สัปดาห์แรกเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เมื่อได้รับเงินก้อนใหญ่มาเราควรจัดสรรออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า นี่จะเป็นค่าที่พัก ค่ารถ ค่าอาหาร สำหรับ 1 เดือน หลังจากนั้นถ้าพบว่าเมื่อจ่ายในสิ่งที่จำเป็นไป แล้วยังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง จึงค่อยนำเงินนั้นไปเที่ยวเล่น ช้อปปิ้ง
4. ซื้อหนังสือเรียนใหม่ทั้งหมด
ส่วนใหญ่ในวันแรกๆ ของการเริ่มคลาส อาจารย์มักให้รายชื่อหนังสือเรียนที่ควรอ่านเพิ่มเติมหรือจำเป็นต้องใช้มาจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากซื้อหนังสือใหม่ทั้งหมด เล่มหนึ่งก็อาจจะตกประมาณ 50 ปอนด์ ซึ่งแพงอยู่พอสมควร หากหนังสือเล่มไหนใช้ไม่บ่อยมาก นักศึกษาควรยืมจากห้องสมุดจะดีกว่า หรือถ้าเล่มไหนจำเป็นต้องซื้อจริงๆ ลองมองหาหนังสือมือสองจากร้านในเมือง หรือสั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต ก็มักจะได้ราคาถูกลงกว่าครึ่ง การซื้อหนังสือต่อจากนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คุณอาจผูกมิตรกับรุ่นพี่แล้วแจ้งพวกเขาไว้ล่วงหน้าว่าอยากซื้อต่อตำราเรียน
5. ใช้บริการกู้เงินด่วน (Payday loan)
บางคนวางแผนทางการเงินไม่ดีจึงเกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่บ่อยครั้ง และเลือกหาทางออกด้วยการใช้บริการกู้เงินด่วน ซึ่งมักเก็บดอกเบี้ยแพงกว่าปกติ และเป็นการฝึกนิสัยทางการผิดๆ ให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น the National Union of Students (NUS) หรือสหภาพนักศึกษาในอังกฤษสำรวจพบว่า 10% ของนักศึกษามีความเสี่ยงสูงที่จะใช้บริการกู้เงินด่วน ทางสหภาพจึงพยายามหาทางรณรงค์อย่างแข็งขันในเรื่องนี้