การบัญชี หมายถึง กระบวนการติดตามตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของบริษัท ซึ่งมีความสำคัญต่อบริษัทในการเก็บข้อมูลรายรับและรายจ่าย เพื่อนำไปสู่การประเมินผลกำไรและความสำเร็จขององค์กร
ทุกวันนี้บริษัทส่วนใหญ่มีแผนกบัญชีของตัวเอง ซึ่งมีแนวโน้มจะจ้างนักศึกษาจบใหม่เพิ่มมากขึ้น ขอบเขตงานของแผนกบัญชีไม่ใช่แค่การบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่ยังครอบคลุมไปถึงการดูแลเรื่องธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การชำระภาษี และวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเพื่อคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจในอนาคต
ผู้จบการศึกษาด้านบัญชีส่วนใหญ่ มีความตั้งใจที่จะเป็นนักบัญชี แต่เนื่องจากในหลักสูตรนั้นสอนเรื่องโครงสร้างธุรกิจ กฎหมาย และเศรษฐศาสตร์ บ่อยครั้งจึงพบว่าผู้จบบัญชีจำนวนไม่น้อย ผันตัวไปทำงานสายการบริหารจัดการ และเนื่องจากมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินเป็นอย่างดี เมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตยังสามารถทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้กับธนาคาร หรือเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงของสถาบันประกันภัยขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานสายตรงเกี่ยวกับบัญชี อาจเลือกทำงานให้กับองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร ในส่วนของการเขียนโครงการขอทุนและระดมทุนในรูปแบบต่างๆ หรือหากต้องการทำงานส่วนอื่นที่นอกเหนือไปจากการทำงานด้านบัญชีโดยตรง ก็ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในด้านการขาย การทำการตลาด การทำโฆษณา หรือแม้กระทั่งเป็นนักข่าวสายการเงิน หรือนักกฎหมาย
นอกจากนี้ผู้จบการศึกษาสาขาบัญชี ยังสามารถใช้วุฒิการศึกษานี้ ไปสมัครเป็นอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย หรืออาจารย์ในโรงเรียนมัธยมได้อีกด้วย
โครงสร้างของหลักสูตรจะขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา ระดับปริญญาตรีจะใช้เวลาในการศึกษาสูงสุด 3 ปี นักศึกษาจะต้องฝึกงานในปีที่ 2 และ 3 ของหลักสูตร และผู้สนใจเข้าศึกษาจะต้องมีคะแนนระดับ 3 A-levels ขึ้นไป หรือเทียบเท่าสำหรับนักเรียนจากประเทศที่ใช้ระบบการประเมินผลคนละแบบกับประเทศอังกฤษ
หลักสูตรปริญญาโทสาขาบัญชี เหมาะกับผู้ที่มีความถนัดในด้านคณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องธุรกิจ ผู้สนใจเข้าศึกษาที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จะต้องยื่นคะแนน IELTS 6.0-6.5 คะแนนขึ้นไป
รูปแบบการเรียนการสอนจะมีทั้งการบรรยายแบบปกติ การสอบ และการทำโปรเจค รวมถึงจะได้ฝึกงานในแผนกบัญชีตามหลักสูตรอีกด้วย
สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรพิจารณาในการเลือกมหาวิทยาลัยคือหลักสูตรของแต่ละที่ หลักสูตรส่วนใหญ่มีเนื้อหาการเรียนการสอนคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน ควรศึกษารายละเอียดให้ดีว่า หลักสูตรไหนตรงกับความสนใจของคุณ และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพหลังจบการศึกษามากที่สุด
เงื่อนไขการรับเข้าศึกษาและค่าใช้จ่ายในการศึกษา ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนยื่นใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัย ผลการเรียนของคุณผ่านเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้หรือไม่ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าที่พักและค่าครองชีพ อยู่ในระดับที่คุณสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าคุณไม่ได้มีความพร้อมด้านการเงินนัก ก็ควรจะมองหาสถาบันที่มีการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาประกอบด้วย
บริษัทชั้นนำหลายแห่งพิจารณาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการคัดเลือกผู้สมัครงาน ดังนั้นจึงควรเลือกมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในสาขาวิชาที่เราสนใจ
การเรียนมหาวิทยาลัยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี สภาพแวดล้อมของสถานที่เรียนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ และเข้าสังคมกับผู้คนที่หลากหลาย ก็นับเป็นประสบการณ์ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษาในชั้นเรียน บางคนอาจจะชอบมหาวิทยาลัยใหญ่ในเมืองที่เจริญและกว้างขวาง บางคนอาจจะชอบอยู่เมืองเล็กๆ ที่เป็นกันเองและอบอุ่น ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง