สาขาวิชามนุษยศาสตร์ คือการมุ่งเน้นศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมทั่วไป และใช้ทักษะการวิเคราะห์ การวิจารณ์ และการคาดการณ์ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ จากยุคคลาสิกดั้งเดิมและประวัติศาสตร์ จนมาถึงยุคที่เริ่มมีกฎหมายและศิลปการแสดง ความคิดเห็นและการตีความในเรื่องทั่วๆ ไปเหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของการศึกษาวิชามนุษยศาสตร์
การศึกษาวิชามนุษยศาสตร์เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 และได้มีการนำภาษาละตินคำว่า Studia Humanitatis (ภาษาอังกฤษคือ the study of humanity) มาใช้เป็นคำจำกัดความของศาสตร์ด้านนี้ ที่สอนเกี่ยวกับไวยกรณ์ บทกวี วาทศาสตร์ ศีลธรรม และประวัติศาสตร์
ระหว่างศึกษาวิชามนุษยศาสตร์ คุณจะได้รับทักษะมากมายที่สามารถนำไปใช้ทำงานได้หลายประเภท บัณฑิตส่วนใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถด้านมนุษยศาสตร์เป็นอย่างดี นิยมทำงานอย่างเช่น นักวารสารศาสตร์ ครูอาจารย์ และนักกฎหมาย หรืองานด้านอื่นๆ ที่สามารถนำทักษะจากการเรียนไปใช้ประโยชน์ได้
สำหรับผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ ก็ยังสามารถผันตัวไปทำงานด้านศิลปะได้อีกด้วย สำนักพิมพ์ โรงละคร และอาร์ตแกลเลอรี่หลายแห่ง มองหาบุคลากรที่มีความเข้าใจและหลงใหลในด้านศิลปะมาร่วมงานด้วยอยู่เสมอ
หากต้องการทำงานด้านธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรมนุษย์ นักโฆษณา นักการตลาด หรือทำงานด้านการบริการจัดการ บัณฑิตสาขามนุษยศาสตร์ก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน
การเรียนมนุษยศาสตร์จะต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์ และส่วนใหญ่จะประเมินผลผู้เรียน ผ่านแบบฝึกหัดเขียนความเรียงหรือการสอบ มากกว่าการปฏิบัติ หลักสูตรปริญญาตรีจะใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 3 ปี และหลักสูตรปริญญาโทจะใช้เวลาเรียนอย่างน้อย 1 ปี บางสถาบันนักศึกษาอาจมีโอกาสได้ไปเรียนที่ต่างประเทศ 1 ปี โดยผ่านโครงการ Erasmus (European Community Action Scheme for the Mobility of University Students) ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่างประเทศเป็นพิเศษ หรือคุณอาจได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระหว่างปีที่ 2 และปีสุดท้ายของหลักสูตร
ในประเทศอังกฤษ ผู้สมัครระดับปริญญาตรี จะต้องมีผลการเรียนระดับ A-levels ขึ้นไปหรือเทียบเท่า ในวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น วิชาประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ปรัชญา หรือศาสนา ส่วนในระดับปริญญาโทผู้สมัครจะต้องมีผลการเรียนระดับ 2:1 ขึ้นไปในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเช่นกัน
แต่ละมหาวิทยาลัยจะกำหนดเกณฑ์ในการรับสมัครแตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ว่า ผู้มาจากประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จะต้องสอบ IELTS ได้อย่างน้อย 6.0 คะแนนขึ้นไป และสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ระดับคะแนนอาจจะเพิ่มเป็น 6.5 คะแนน
เนื่องจากสาขาวิชามนุษยศาสตร์ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่หลากหลาย การเลือกหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก นักศึกษาบางคนอาจยื่นใบสมัครไปโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงอาชีพในอนาคตมากนัก แต่นักศึกษาส่วนใหญ่จะพอมีไอเดียอยู่แล้วว่าต้องการทำอะไรหลังเรียนจบ หรือรู้ว่าตัวเองอยากจะใช้เวลาไปกับการฝึกปฏิบัติงาน หรือไปศึกษาที่ต่างประเทศกับโครงการแลกเปลี่ยน คุณควรวางแผนให้รอบคอบว่าจะเลือกทางไหน และต้องการเรียนหลักสูตรที่เน้นความรู้ด้านไหนเป็นพิเศษ เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างมากต่อการทำงานในอนาคต
หากไม่ต้องการขยายเวลาเรียนเพิ่มอีกหนึ่งปี คุณอาจลองปรึกษาฝ่ายบริการแนะแนวด้านการจัดหางานในมหาวิทยาลัยดู เพราะอาจมีตำแหน่งงานนอกเวลาเรียนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้คุณสามารถเข้าไปฝึกปฏิบัติงานได้ในระหว่างเรียน
อย่าลืมคำนึงถึงสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมันจะส่งผลอย่างมากต่อชีวิตนักศึกษาของคุณ คุณควรพิจารณาความต้องการของตัวเอง ทั้งในแง่การเข้าสังคมและด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มักมีกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลาย มีสีสันและความคึกคักอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับคุณ คุณอาจลองมองหามหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ที่อยู่ในชุมชนอันอบอุ่นและเงียบสงบ ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่แพ้กัน หากเป็นไปได้ก่อนตัดสินใจเลือกสถานที่เรียน คุณควรลองเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศจริงในมหาวิทยาลัย สอบถามเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก และพูดคุยกับนักศึกษาที่เรียนอยู่ที่นั่น เพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้
มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะกำหนดเกณฑ์ในการรับสมัครแตกต่างกันออกไป และสาขาวิชามนุษยศาสตร์ก็มีมหาวิทยาลัยให้เลือกเป็นจำนวนมาก อย่าลืมตรวจสอบหลักสูตรให้ตรงกับความสนใจ และก่อนยื่นใบสมัครคุณต้องตรวจเช็คคุณสมบัติของตัวเองให้ถี่ถ้วน ว่าผ่านเกณฑ์การรับสมัครหรือไม่ และอย่าลืมคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาด้วย หากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ควรมองหามหาวิทยาลัยที่มีทุนสำหรับนักศึกษาขาดแคลนไว้เป็นทางเลือกหนึ่งด้วย