ขั้นตอนเรียนต่อ
เรียนในต่างประเทศ : การหาที่พัก

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของที่พักแต่ละแบบสำหรับนักเรียนไทยในต่างประเทศ

share image

 

หลังจากเลือกหลักสูตรที่ต้องการศึกษาและได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว เรื่องสำคัญลำดับถัดมาก็คือการหาที่พักในต่างแดน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการย้ายที่พักบ่อยๆ คงไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ในบทความนี้ Hotcourses จึงรวบรวมข้อดี-ข้อเสียของที่พักแต่ละแบบมาเปรียบเทียบให้ดูค่ะ น่าจะพอมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่กำลังมองหาที่พักในต่างประเทศนะคะ

 

หอพักมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีหอพักให้บริการแก่นักศึกษาต่างชาติ โดยบางแห่งให้อยู่ได้ตลอดระยะเวลาการศึกษา ในขณะที่บางแห่งอนุญาตให้อยู่ได้เฉพาะปีแรกเท่านั้น 

 

ข้อดี

- ปลอดภัย หอพักส่วนใหญ่จะมีความปลอดภัยสูง เชื่อถือได้ และอยู่กันเฉพาะนักศึกษาจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องอาชญากรรมเท่าไรนัก

- สะอาด หอพักมักมีแม่บ้านคอยทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางอยู่แล้ว นักศึกษารับผิดชอบแค่พื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง

- ใกล้มหาวิทยาลัย หอพักมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมากๆ หรือบางแห่งก็อยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยเลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีหลายวิทยาเขต ก่อนจองควรสอบถามให้มั่นใจก่อนว่าหอพักตั้งอยู่ในวิทยาเขตไหน 

- มีบริการอาหาร หอพักหลายๆ แห่งรวมค่าอาหารไว้ในค่าเช่าเรียบร้อยแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีราคาประหยัดกว่าไปหาซื้อกินเองข้างนอก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่มีทักษะในการประกอบอาหารด้วยตัวเอง

- ได้รู้จักเพื่อนใหม่ นักศึกษาใหม่ส่วนใหญ่มักเลือกอยู่รวมกันที่หอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำความรู้จักเพื่อนๆ ก่อนเปิดภาคเรียน 

- มีความเป็นส่วนตัว หอพักของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีทั้งแบบห้องเดี่ยวและห้องรวม ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวก็อาจจะต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้นมาหน่อย แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าการออกไปเช่าห้องเดี่ยวข้างนอก

 

ข้อเสีย

- มีกฎระเบียบเยอะ เนื่องจากบริหารงานโดยมหาวิทยาลัย หอพักส่วนใหญ่จึงมักมีกฎระเบียบต่างๆ ในการใช้ชีวิตร่วมกัน เช่น มีกำหนดเวลาเข้า-ออกหอพัก ไม่อนุญาตให้พาคนนอกเข้ามาพัก เป็นต้น

- สัญญาไม่ยืดหยุ่น หอพักส่วนใหญ่จะให้ทำสัญญาและจ่ายค่าเช่าเป็นเทอม หากต้องการย้ายออกหรือเปลี่ยนรูมเมทมักมีความยุ่งยากพอสมควร บางคนก็ต้องอดทนอยู่จนครบกำหนดจึงจะย้ายออกได้

 

การแบ่งเช่าบ้าน

หากเป็นนักศึกษาที่มีงบประมาณจำกัด การเช่าบ้านอยู่ร่วมกับเพื่อนหลายๆ คนก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ในเมืองที่มีนักศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก มักมีเจ้าของบ้านที่ดัดแปลงบ้านให้มีห้องนอนหลายๆ ห้อง เพื่อรองรับการเช่าบ้านอยู่ร่วมกันของนักศึกษาโดยเฉพาะ

 

ข้อดี

- ราคาถูก แน่นอนว่าการแชร์ที่พักกันหลายๆ คนย่อมถูกกว่าการอยู่คนเดียวอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว ถ้าไม่ได้หอบเงินถุงเงินถังมาเรียนต่อจริงๆ การเช่าห้องอยู่คนเดียวถือเป็นความฟุ่มเฟือยอย่างยิ่ง

- ได้รู้จักเพื่อนใหม่ เมื่อมาอยู่ร่วมกันเรามักจะได้เพื่อนใหม่ไปโดยปริยาย ซึ่งนอกจากรูมเมทแล้วบางทีสังคมเราก็จะกว้างขวางขึ้นไปอีกจากเพื่อนๆ ของรูมเมทที่มาเที่ยวเล่นที่ห้อง

- ได้เรียนรู้ประสบการณ์และวัฒนธรรมใหม่ การอยู่ร่วมกับคนจากหลายเชื้อชาติ จะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากทีเดียว (ทั้งด้านบวกและลบ)

- มีโอกาสพัฒนาด้านภาษาเร็ว ต่อให้เป็นคนที่เข้าสังคมไม่ค่อยเก่งนัก แต่การแชร์ห้องอยู่ร่วมกันก็มักจะบังคับทางอ้อมให้เราต้องพูดคุยกับคนอื่นไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ทักษะด้านภาษาของเราพัฒนาได้เร็วขึ้น

 

ข้อเสีย

- อาจเกิดความขัดแย้ง บางคนเป็นเพื่อนกันก็รักกันดี แต่พอมาเป็นรูมเมทกลับทะเลาะกันซะงั้น ประเด็นหลักๆ ที่พบบ่อย เช่น เรื่องความสะอาด การจ่ายค่าเช่าไม่ตรงเวลา การหยิบของคนอื่นไปใช้โดยไม่บอกกล่าว หรือบางคนก็อาจจะประหยัดเกินเหตุจนทำให้คนอื่นรู้สึกอึดอัด อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องอดทนอยู่ด้วยกันไปจนกว่าจะหมดสัญญาเช่า มิฉะนั้นอาจโดยยึดค่ามัดจำ

- ไม่มีความเป็นส่วนตัว หากรักความสันโดษและค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง การแชร์บ้านร่วมกับคนอื่นอาจจะไม่เหมาะเท่าไรนัก 

 

อยู่กับโฮสต์แฟร์มิลี่

ส่วนใหญ่คนที่อยู่กับโฮสต์แฟร์มิลี่จะเป็นเด็กมัธยมที่ไปแลกเปลี่ยนเสียมากกว่า แต่ก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่น้อยเหมือนกันค่ะที่เลือกอยู่กับโฮสต์แฟร์มิลี่ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งไปต่างประเทศครั้งแรก การมีคนท้องถิ่นคอยช่วยดูแลก็ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจมากกว่า

 

ข้อดี

- ได้เรียนรู้ประสบการณ์และวัฒนธรรมใหม่ ข้อนี้ได้เต็มๆ แน่นอนค่ะ เพราะเราจะได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนท้องถิ่น ได้เข้าใจและสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนที่นั่นจริงๆ นอกจากนี้โฮสต์หลายๆ บ้านก็มักจะพานักศึกษาไปเที่ยวในวันหยุดด้วย

- ไม่โดดเดี่ยว ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัวเราก็สามารถปรึกษาโฮสต์ได้ ส่วนใหญ่เขามักจะยินดีให้คำแนะนำแก่เราอยู่แล้วค่ะ 

- พัฒนาทักษะด้านภาษาได้ไว โดยมารยาทแล้วเมื่ออยู่กับโฮสต์เราไม่ควรเก็บตัว แต่ควรจะใช้เวลาพูดคุยกับคนในบ้านเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งจะทำให้ทักษะด้านภาษาของเราพัฒนาไปโดยอัตโนมัติ

- ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเราเข้าไปอยู่ในบ้านของคนท้องถิ่นจริงๆ เราจึงแทบไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ครัวหรือข้าวของอื่นๆ เพิ่มเติมเลย ซื้อแค่ของใช้ส่วนตัวเท่านั้น และไม่ต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบ้านด้วย (ยกเว้นกรณีที่ไปทำของเขาพัง) จึงประหยัดไปได้เยอะทีเดียว



ข้อเสีย

- มีความเป็นส่วนตัวน้อย หรือจะบอกว่าแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ค่ะ บางบ้านถือเป็นมารยาทเลยว่า ไม่ควรปิดประตูห้องถ้าไม่ได้กำลังทำธุระส่วนตัว 

- ไม่กล้าเจรจากับเจ้าของบ้าน นักเรียนไทยส่วนใหญ่พื้นฐานเป็นคนขี้เกรงใจและไม่ค่อยกล้าพูดอะไรตรงๆ สักเท่าไร ทำให้บางทีมีปัญหาอึดอัดใจแต่ก็ไม่กล้าบอกโฮสต์ 

- ขาดความเป็นอิสระ เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยอนุญาตให้พาแขกหรือเพื่อนมาที่บ้าน และมีกฎระเบียบมากมาย เช่น ต้องช่วยงานบ้าน กำหนดจำนวนครั้งในการอาบน้ำหรือให้อาบได้ไม่เกิน 5 นาที มีเงื่อนไขในการใช้ตู้เย็น ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่บ้านค่ะ บ้านที่ใจดีและยืดหยุ่นมากหน่อยก็มีเยอะ

- ต้องรักษามารยาทตลอดเวลา การอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่บางทีก็ทำให้เราไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

 

 

ทีนี้ก็รู้กันแล้วเนอะว่าการพักอยู่แบบไหนมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง... แต่เส้นทางการตามความฝันของเพื่อนๆ ยังไม่จบเท่านี้! ลองไปค้นหากันต่อกับอัพเดทมหาลัยดาวรุ่ง ยอดนิยมที่น่าไปเรียนต่อในปีล่าสุดกัน! เลทส์โก :) คลิกด้านล่างโลด