
มาตรฐานการกินข้าวนอกบ้านของคนไทยทุกวันนี้ ดูจะหรูหรามากขึ้นโดยเห็นได้จากโรงแรมระดับห้าดาวในกรุงเทพมักจะเชิญพ่อครัวระดับมิชลินสตาร์มาปรุงอาหารให้คนใหญ่คนโต ไฮโซบ้านเรากินแบบไม่ต้องคิดคำนวณราคาว่ามื้อนี้ต้องจ่ายเท่าไรให้ปวดหัวใจเล่นเหมือนเราๆ ท่านๆ
ตัวเราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการกินเป็นชีวิตจิตใจ (มีใครบ้างที่ไม่ชอบการกิน) แต่ว่าขาดแคลนเสน่ห์ปลายจวัก เรื่องทำอาหารกินเองตกแต่งสวยงาม ตามแบบภัตตาคารยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทำให้อดคิดเองเล่นไม่ได้ว่าจะเป็นการดีแค่ไหน หากเราสามารถทำอาหารได้เยี่ยง Chef ระดับสามดาว ห้าดาว คนรอบข้างคงมีความสุขและอิ่มเอมเป็นแน่
แต่รู้ไหมว่าหนทางเรียนทำอาหารจะต้องไปทางไหน? เอาแบบนี้แล้วกัน เพื่อไม่ให้การเรียนเชฟ ทำอาหารเมืองนอกดูน่ากลัว หรือไกลเกินไป เราลองมาดูประวัติเชฟที่ชื่อคุ้นหูดูก่อนดีกว่าว่าก่อนมาเป็นเชฟเขาไปเรียนอะไรกันมา :)
Gordon Ramsay
โอ้โห อย่าเพิ่งตกใจชื่อแล้วจะรู้สึกว่าฉันจะไปเป็นเชฟแบบกอร์ดอนได้เหรอ เขาต้องตั้งใจเรียนทำอาหารมาแน่ๆ เปล่าเลย! ชีวิตกอร์ดอนตอนช่วงวัยรุ่นลำบาก และไม่ได้สนใจด้านการทำอาหารจนกระทั่งมาเรียนการบริหารการโรงแรม หรือ Hotel Management ที่ North Oxfordshire Technical College วิทยาลัยอาชีวะ ซึ่งกอร์ดอนบอกว่าเป็นความบังเอิญล้วนๆ
Jamie Trevor Oliver
คนนี้เป็นเชฟชื่อดังและเจ้าของภัตตาคารจากอังกฤษ เขาสนใจด้านอาหารมาจากการที่พ่อแม่ทำงานร้านอาหาร พอโตมาก็เลยเข้าวิทยาลัยอาชีวะและศึกษาเกี่ยวกับคหกรรม และค่อยๆ ไต่เต้าจากการทำงานในภัตตาคารมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีร้านอาหารของตัวเอง
เห็นไหม? ทั้ง 2 คนเป็นเชฟที่ประสบความสำเร็จกันทั้งคู่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเรียนเหมือนกัน คนหนึ่งเรียนด้านโรงแรม คนหนึ่งเรียนคหกรรม การจะเป็นเชฟหรือทำงานสายอาหารทำได้หลายแบบมาก ยังไม่นับว่าจบมาจะเน้นไปด้านขนม หรืออาหารเอเชีย อาหารสัญชาติอื่นๆ อีก นี่เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจมากๆ
การเรียนทำอาหารในไทยและต่างประเทศ
เรียนทำอาหารในไทย
การทำอาหารนั้นไม่ใช่แค่จับโยนใส่กะทะแล้วก็ใส่จานกิน การปรุงอาหารถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการฝึกหัด เรียนรู้และมีใจรักถึงจะทำได้ดี เราได้ข้อมูลที่เรียนที่ฟังดูหรูหรามา คือที่ เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ที่สามารถเรียนที่เมืองไทยได้ ค่าเรียนหรือหลักสูตรลองเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของสถาบันได้เลย
เรียนทำอาหารต่างประเทศ
ก่อนอื่นถามตัวเองว่าอยากเรียนทำอาหารแนวไหน อยากเรียนเชฟ เรียนการจัดการ ธุรกิจร้านอาหารอื่นๆ รึเปล่า เพราะแต่ละหลักสูตรก็มีรายละเอียดต่างกัน ถ้ามาเรียนต่างประเทศยิ่งมีคอร์สให้เลือกเยอะมาก ซึ่งมันละเอียดอ่อนมาก เอาเป็นว่าเราจะมาอธิบายคีย์เวิร์ดเพื่อไปหาต่อง่ายๆ และเดี๋ยวไปแนะนำมหาวิทยาลัยด้านล่างกัน
สายเน้นด้านโรงแรม
Hotel Management = การบริหารจัดการโรงแรม มีหลักสูตรเกี่ยวกับการทำอาหารและการจัดการ ค่อนข้างเน้นด้านบริหารมากกว่าทำอาหาร
Catering = คล้ายๆ กับด้านบน โฟกัสอาหารมากกว่า แต่จะเป็นด้านอาหารและการจัดเลี้ยง เน้นทำงานสายภัตตาคารและโรงแรม หรือการจัดอาหารให้หมู่คณะ
สายทำอาหาร
Culinary & Cookery = เน้นด้านการทำอาหาร ขั้นตอนต่างๆ มากกว่าด้านการบริการ ใครอยากเป็นเชฟ ทำงานในครัวอย่างเข้มข้น ต้องมาสายนี้เลย
เคล็ดลับในการหาคอร์ส / มหาวิทยาลัย
ก่อนอื่นเลยต้องถามตัวเองว่าจริงจังกับการเรียนทำอาหารแค่ไหน ถ้าตอบได้ก็ต้องตอบต่อว่าสนใจด้านอาหารอะไรเป็นพิเศษรึเปล่า เพราะถ้าสนใจด้านการโรงแรม ทาง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อาจจะเป็นตัวเลือกน่าสนใจอันดับแรกๆ ถ้าสนใจด้านการทำอาหารให้ลึกซึ้งก็อาจจะไปฝรั่งเศส ถ้าสนใจเรียนสายตรงที่ไม่ใช่วิชาชีพก็อาจจะไปอเมริกาหรืออังกฤษ หรือถ้าเรียนแบบคอร์สสั้นๆ ก็ลองหาที่แคนาดาหรือสวิตก็เวิร์กดีนะ :)
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและคอร์ส
- University of Derby อังกฤษ
- ใครอยากได้ปริญญาตรีด้าน Culinary แนะนำที่นี่เลย มีตั้งแต่เรียน 2 ปี - 4 ปี เข้าไปดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่นี่เลย
- Centennial College แคนาดา
- มหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้านคุณภาพของผู้ที่จบจากที่นี่ โอกาสในการฝึกงานต่างๆ หลักสูตรที่เน้นก็จะเป็นด้านอาชีวะ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่เลย
- IMI International Management Institute สวิตเซอร์แลนด์
- สถาบันการศึกษาเอกชนเฉพาะทางที่เน้นสอนด้านการโรงแรม มีคอร์สทำอาหาร 22 สัปดาห์ รายละเอียดเข้าไปดูที่โปรไฟล์สถาบันได้เลย
- Auckland University of Technology นิวซีแลนด์
- เน้นหลักสูตรปริญญาตรีด้านการทำอาหาร รายละเอียดดู ที่นี่ ได้เลย
ที่สำคัญ: เลือกประเทศที่กำลังขาดกำลังคนสายนี้
นอกจากจะเลือกจะไปที่ไหนจากมหาวิทยาลัยและหลักสูตรแล้ว ตัวเลือกอีกหนึ่งข้อที่น่าสนใจคือเลือกประเทศที่ต้องการหรือกำลังขาดอาชีพที่เราอยากทำ หรือถ้าจะเรียกให้เป็นทางการหน่อยก็คือ การค้นหาจาก Shortage Occupation List ในแต่ละประเทศ เพราะถ้าไปเรียนที่นั่นแล้ว เปอร์เซ็นต์การได้งานที่ประเทศนั้นๆ ก็จะมากขึ้นด้วย!
ยกตัวอย่างเช่น Shortage Occupation List ของสหราชอาณาจักรที่ระบุว่าเชฟเป็นอาชีพที่ต้องการมากเพราะขาดตลาดอยู่ ถ้าเราเลือกเรียนที่นี่ รับรอง โอกาสการได้งาน ขอวีซ่า สูงขึ้นกว่าที่ๆ ไม่ได้ระบุเรื่องขาดคนอยู่แล้ว ใครสนใจดูเกี่ยวกับ 7อาชีพที่อยู่ใน Shortage Of Occupation Listลองไปศึกษาในบทความที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้
เอาเป็นว่าเลือกคอร์สที่อยากเรียน ที่ๆ อยากไป ลองหารีวิวหรือบทความอื่นๆ อ่านเพื่อเก็บเป็นข้อมูลตัดสินใจก็ได้ สู้ๆ!
และถ้าใครสนใจเรียนสายอาชีวะกับสายอาชีพ พลาดไม่ได้เลยกับลิงก์ด้านล่าง เพราะเรามีข้อมูลเรื่องทุนมาแจกฟรีๆ! ตามไปดูเล้ย! 👇