
ทำยังไงถึงจะสอบได้คะแนนสูงๆ หรือเขียนคำตอบที่ไม่โป๊ะ? ก่อนอื่นเราจะต้องรู้จักเตรียมตัวให้ดีก่อน
ไม่นานมานี้ทางเว็บไซต์ Studentbeans มีการไปสอบถามอาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองนอกทั้งหลายให้แล้ว ตั้งแต่อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ไปจนถึงภาษาอังกฤษ ถึงเคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ จัดการความเครียด และลงมือสอบให้ผ่าน เรียกได้ว่าใครที่กำลังเตรียมตัวสอบนี่ห้ามพลาดเลย
ลองดูเคล็ดลับที่เหมาะกับตัวเองแล้วนำไปประยุกต์ใช้ดูกันเถอะ! ^^
BEFORE EXAM: ช่วงทบทวนอย่างไรให้เข้าหัว
ช่วงนี้เป็นช่วงที่นักศึกษาหลายคนชะล่าใจที่สุด เพราะว่าตารางสอบยังอยู่ไกลไปอีกเป็นสัปดาห์ๆ แต่!! หลายคนตกม้าตายกันมาเยอะแล้วรู้ไหม แม้อาจจะดูเนิร์ดไปบ้างแต่การวางแผนล่วงหน้ายังไงก็วินๆ กับเราที่สุด การเตรียมตัว เช็คหลักสูตร syllabus ถามอาจารย์ ดูว่าเราไม่เข้าใจอะไร จัด study plan เก๋ๆ ตามสไตล์ pinterest... ไม่ว่าจะทำแบบไหนก็วินไปตลอดรอดฝั่งเลย
มาดูกันว่าเหล่าอาจารย์จากยูนอกจะว่าอย่างไรบ้าง
"วางแผนล่วงหน้า ฝึกเขียนภายในระยะเวลาที่กำหนด และลองใช้วิธีทบทวนที่สรุปเนื้อหาอย่างรวดเร็วจะช่วยได้มากเวลาเขียนข้อสอบ เช่นการฝึกสรุปไอเดียของตัวเองให้สั้นและกระชับเข้าไว้"
- Victor Tadros, อาจารย์คณะนิติศาสตร์, University of Warwick
"วิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการพยายามอธิบายให้คนอื่นฟังให้เข้าใจให้ได้ อีกวิธีนึงที่จะทดสอบความเข้าใจของตัวคุณเองก็คือการพยายามสร้างโจทย์ของตัวเองขึ้นมา แล้วลองแก้โจทย์นั้นเอง"
- Elena Issoglio, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์การเงิน, University of Leeds
"อย่าแค่เรียนหรืออ่านให้เข้าหัว แต่ให้พยายามทำความเข้าใจ เพราะถ้าเราเข้าใจแล้ว เราจะไม่ต้องพยายามจดจำมันเลย แถมยังจะช่วยให้เราไม่ลืมอีกด้วย"
- Immanuel Halupczok, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์, University of Leeds
EXAM WEEK: ก่อนถึงวันสอบ
หลายคนชอบทำตัว One night miracle หรือว่าเอ้อระเหยแล้วมาอ่านเตรียมสอบตาลีตาเหลือกก่อนในคืนสุดท้าย จริงๆ แล้วช่วงสัปดาห์สอบจะต้องเป็นช่วงที่เราใจนิ่ง คีพคาล์ม ได้แล้ว จะได้ไม่ลืมอะไรในการสอบ ถึงเวลาที่ทบทวนเบาๆ ว่าเราเข้าใจจริงๆ ได้แล้ว
"ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนสอบ ลองหาข้อสอบเก่ามาทำโดยมีการจับเวลาเหมือนสอบจริง จะได้ประเมินตัวเองถูกว่าเราทำได้แค่ไหน"
- Stephen Griffiths , อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, University of Leeds
"ตรวจสอบการเขียนของคุณว่าอ่านออกได้ง่ายและชัดเจน! ทำตัวให้สบายๆ และคิดว่าจะเขียนได้มากแค่ไหนในการสอบ เวลาสอบจะได้ไม่กดดันตัวเอง และรู้ตัวว่าเขียนมากเพียงพอหรือยัง"
- Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, University of Birmingham
"ไปถึงห้องสอบให้ทันเวลา ให้เวลาตัวเอง 2-3 นาทีในการผ่อนคลายตัวเองก่อนเริ่มสอบ"
- Sebastian Mitchell, อาจารย์อาวุโสด้านวรรณกรรมอังกฤษ, University of Birmingham
DURING EXAM: ถึงเวลาสอบจริง
รู้ตัวอีกทีข้อสอบก็มาอยู่ตรงหน้าแล้ว... เอาล่ะ นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมาแพนิก สูดลมหายใจเข้าลึกๆ เรารู้แล้วว่ากำลังสอบอะไร ข้อสอบออกแนวไหน ลองอ่านโจทย์ดีๆ สำหรับข้อสอบมหาวิทยาลัยหลายๆ คณะที่เป็นการเขียนข้อเขียนแอสเสยาวๆ นี่บอกเลยว่าการมีโครงสร้างหรือ outline นี่ดีที่สุด เพราะทำให้เราเรียงลำดับความคิดได้
ถ้านึกไม่ออกให้นึกถึงเวลาเราทำรายงานจะต้องมีการเกริ่นคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป การเขียนข้อสอบก็ต้องมีโครงสร้าง ไม่ใช่การเขียนวนไปวนมานึกอะไรออกก็เขียน และต้อง convince อาจารย์ที่ตรวจข้อสอบให้ได้ว่าเรารู้จริง
"เมื่อถึงที่นั่งสอบแล้ว สูดหายใจเข้าออกลึกๆ 10 ครั้ง และบอกตัวเองว่าการได้เขียนสิ่งที่เราคิดนี่มันช่างมีความสุขเสียนี่กระไร! แล้วก็เริ่มทำข้อสอบอย่างมั่นใจได้เลย"
- Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, Birmingham
"กะจังหวะของตัวเองให้ดี อย่าลืมว่าคะแนน 50% แรกนั้นได้มาง่ายกว่า 10% สุดท้าย การเขียนข้อสอบเยอะๆ นั้นไม่มีค่าหากคุณไม่ได้สังเคราะห์แนวคิดและเพิ่มเติมข้อมูลที่เหนือกว่าคนอื่น"
- Phil Garnsworthy, หัวหน้าภาควิชาสัตวศาสตร์, University of Nottingham
"ข้อสอบส่วนใหญ่จะมีหลายข้อและให้เลือกทำเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ดังนั้นต้องมั่นใจว่าคุณเลือกคำถามที่เหมาะสมที่คุณมีโอกาสตอบได้มากที่สุด ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำถามที่ง่ายที่สุดเสมอไป อย่าเขียนข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง สิ่งที่อาจารย์ทั้งหลายมองหาคือการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ตอบคำถามได้อย่างเฉพาะเจาะจง"
- Sebastian Mitchell, อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ, Birmingham
"เขียนให้น่าสนใจ เพราะเวลาตรวจข้อสอบนี่เป็นอะไรที่น่าเบื่อและน่าหงุดหงิดที่สุดเลย คำตอบที่น่าสนใจนี่ช่วยพวกเราได้มาก ทำให้พวกเราอยากจะให้คะแนนข้อสอบเหล่านี้เพิ่มขึ้นเลยแหละ ที่สำคัญคืออย่าอวดเก่งหรือใช้ภาษาที่โก้หรูเกินไป นักวิชาการอย่างเราๆ มักจะดูออกทันที เพราะคนที่เข้าใจแนวคิดจริงๆ จะใช้ภาษาง่ายๆ และตรงไปตรงมาในการอธิบายมากกว่า"
- Victor Tadros, อาจารย์ด้านกฎหมาย, Warwick
"ไม่ว่าจะทำบทคัดย่อทางวิทยาศาสตร์หรือข้อสอบวิชาเลข ต้องอธิบายคำตอบมากกว่าแค่เขียนสูตรอย่าง "y=mx+c" แล้วปล่อยให้คนตรวจคิดเอาเองว่าอะไรคืออะไร ลองตอบแบบนี้แทนดีกว่า 'The height y is given by y=mx+c where m is ...'"
- Mike Evans, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, Leeds
"การยกตัวอย่างอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ได้คะแนน แต่การอ้างอิงนั้นได้คะแนนมากกว่า"
- Phil Garnsworthy, อาจารย์ภาคสัตวศาสตร์, Nottingham
"ถึงแม้ปกติคุณจะไม่ใส่นาฬิกา แต่ช่วยใส่มันเข้าห้องสอบทีเถอะ!"
- Valerie Rumbold, อาจารย์ด้านวรรณกรรมอังกฤษ, Birmingham
"อย่ามองข้ามคำถามที่มีข้อมูลเยอะๆ เพราะคำตอบมักจะง่ายกว่าที่คุณคิด"
- Phil Garnsworthy, อาจารย์ภาคสัตวศาสตร์, Nottingham
"เวลาที่คุณโต้แย้งมุมมองบางอย่าง ควรจะโต้แย้งกับมุมมองที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ข้อมูลที่ไร้หลักฐาน และควรจะเป็นมุมมองของคนที่มีชื่อเสียงและชาญฉลาด นอกจากนี้ต้องจัดโครงสร้างคำตอบของคุณให้ดีโดยใช้บริบทการโต้แย้งอย่างเหมาะสม ไม่ใช่มีแค่ คำนำ เนื้อเรื่อง สรุป"
- Victor Tadros, อาจารย์ด้านกฎหมาย, Warwick
"ถ้าทำข้อสอบเสร็จก่อนเวลา อย่าออกจากห้องสอบทันที คุณไม่ได้จ่ายเงินหลายพันปอนด์และตั้งใจเรียนหลายพันชั่วโมงเพื่อทำข้อสอบแบบส่งๆ ใช้โอกาสนี้ตรวจสอบคำตอบของคุณและพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของคำตอบเหล่านี้ให้ดีที่สุด"
- Mike Evans, อาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์, Leeds
มีคำถามเกี่ยวกับการเรียน-การสอบภาษาเพื่อเตรียมตัวไปเรียนนอก? ปรึกษา IDP ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกเล้ย :)