
กลับมาอีกแล้วกับซีรี่ส์แนะนำหนังสือ ครั้งที่แล้วเราเอาหนังสือที่ CEO เฟซบุ๊กอย่าง ‘Mark Zuckerberg’ แนะนำให้อ่านกันสักครั้งในชีวิตมาฝากกันแล้ว คราวนี้เราจะเอาหนังสืออีก 10 เล่มที่หลายมหาลัยดังๆ ในอเมริกาอย่าง Harvard, MIT, Columbia, Princton และ U of Chicago นิยมให้นักศึกษาอ่านกันมาบอกกัน โดยข้อมูลนี้มาจาก Open Syllabus Project ที่เก็บข้อมูลหนังสือจากประมวลรายวิชา (Courses Syllabus) กว่า 15 ปี
หนังสือ 10 เล่มที่ MARK ZUCKERBERG อยากให้อ่านสักครั้งในชีวิต!
หนังสือแปลน่าอ่านก่อนเริ่มชีวิตนักศึกษา
Republic
Plato
หนังสือที่เขียนขึ้น 360 ปีก่อนคริสตกาล ที่เนื้อหายังคงมีอิทธิพลด้านปรัชญาและการปกครองมาถึงปัจจุบัน! หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องเป็น ‘บทสนทนา’ ระหว่างโซเครตีส (Socrates) ปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น กับชาวเมืองเอเธนส์ และชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ในหนังสือตั้งคำถามและถกเถียงสมมติฐานอันหลากหลาย เป็นหนังสือแนว ‘ทฤษฎี’ ที่ถกถึงความยุติธรรม ‘อะไรคือความยุติธรรม?’ และการมีบทบาทของนักปราชญ์ในสังคมหนึ่งๆ รวมไปถึงคำถามหลายๆ ข้อที่ยังทันสมัย ไม่ว่าจะเป็น ‘ประชาธิปไตยมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร?’ ‘ทำไมมนุษย์ต้องทำดี?’ ฯลฯ ใครที่สนใจด้านรัฐศาสตร์ นี่คือหนึ่งในหนังสือ A MUST ที่ต้องอ่านเลย เล่มนี้มีแปลไทยด้วยนะเออ
Leviathan
Thomas Hobbes
Leviathan (เลอ-ไว-เอ-ตอน) เขียนโดยนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ (English War) หนังสือเล่มนี้เสนอเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ที่ฮอปส์เสนอว่ามนุษย์นั้นชอบแข่งขันและเห็นแก่ตัว จนไปถึงโครงสร้างทางสังคมซึ่งเขาเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดที่ว่า อำนาจปกครองสูงสุดนั้น ต้องมีรากฐานมาจากเจตนารมณ์ร่วมกันของคนในสังคมผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘สัญญาประชาคม’ (Social Contract)
เป็นอีกเล่มที่นักรัฐศาสตร์ต้องอ่าน เราแนะนำให้อ่านเกี่ยวกับผู้เขียนเพิ่มเติมที่ลิ้งก์นี้ คิดสร้างต่างสรรค์ – ทอมัส ฮอบส์ ผู้คิดค้นทฤษฎีสัญญาประชาคม
The Prince
Niccolò Machiavelli
หนังสือเล่มนี้มีชื่อภาษาไทยว่า ‘เจ้าผู้ปกครองนคร’ เขียนโดยนักการทูตชาวอิตาลีในสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งเนื้อหาในหนังสือกลั่นกรองมาจากประสบการณ์รับราชการของนิโคโล มาเคียเวลลี กว่า 15 ปี แม้บริบทในหนังสือจะเป็นอิตาลีและยุโรปในยุคโบราณ แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในทุกๆ ลิสต์ของทุกมหาลัยก็เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับการปกครอง ผู้ปกครอง ที่มาเคียเวลลีมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
🌟 ค้นหารายชื่อมหาลัยในอเมริกา 🌟
The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order
Samuel Huntington
ตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2539 หนังสือเล่มนี้ว่าด้วย “การปะทะกันทางอารยธรรมและการจัดระเบียบโลกใหม่” (ตามชื่อหนังสือนั้นแหละ) โดยอธิบายว่าหลังจากสงครามเย็นจบลงแล้ว สหรัฐอเมริกาก็กลายเป็นอภิมหาอำนาจของโลกแทนที่อังกฤษ สิ่งนี้เองคือสิ่งที่จะเปลี่ยนระเบียบของโลกไป และคนก็จะยึดโยงกันด้วยอารยธรรมต่างๆ แต่อารยธรรมที่ขัดแย้งกันและยังมีให้เห็นให้ยุคปัจจุบันก็คือ อารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมอิสลาม แนวคิดนี้เลยโด่งดังขึ้นมาตอนเกิดเหตุการณ์ 911 ที่ตึกเวิร์ลเทรดถล่มเมื่อปี 2011
ใครที่สนใจเรื่องโลกาภิวัฒน์ และการจัดระเบียบโลกต้องหามาอ่านเพราะจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมโลกทุกวันนี้จึงเป็นแบบที่เป็นอยู่
The Elements of Style
William Strunk
หนังสือที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจากทั่วโลกแนะนำให้นักศึกษาอ่านมากที่สุดในปี 2019 ‘The Elements of Style’ ว่าด้วยลักษณะและองค์ประกอบพื้นฐานของการใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง สละสลวย เรียกได้ว่าเป็นคู่มือการใช้งานภาษาอังกฤษเลยก็ว่าได้ ขนาดเด็กอเมริกันยังต้องอ่านอะ ในหนังสือพูดถึง ‘คำและสำนวนที่มักใช้ผิด’ หรือ ‘คำที่มักสะกดผิด’ หรือ ‘หลักการเบื้องต้นของการจัดองค์ประกอบการเขียน’ เป็นต้น
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับใครที่อยากหัดขีดเขียนภาษาอังกฤษ และนักศึกษาทุกคนที่ต้องทำเปเปอร์ภาษาอังกฤษส่งอาจารย์
Ethics
Aristotle
หนังสืออีกเล่มจากนักปราชญ์กรีกโบราณ เขียนขึ้น 340 ปีก่อนคริสตกาล Ethics (แปลตรงตัวเป็นไทยว่า ‘จริยศาสตร์’ ) ตั้งคำถามปรัชญาว่าทำยังไงให้มี ‘ชีวิตที่ดี’ หรือ ‘ชีวิตที่มีความสุข’ โดยอริสโตเติลเสนอว่าการจะมีชีวิตที่ดีได้ขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับ ‘การกระทำ’ (Activity) ที่ต้องมี ‘คุณธรรม’ บางอย่างอยู่ คุณธรรมก็แบ่งออกไปได้อีกเป็น ‘คุณธรรมเชิงจริยธรรม’ (moral virtue) เช่น ความกล้าหาญ เมตตา หรือความยุติธรรม และ ‘คุณธรรมเชิงสติปัญญา’ (intellectual virtue) เช่นความรู้ ปัญญา และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง
งานชิ้นนี้ของอริสโตเติลยังคงมีอิทธิพลในวงการจริยศาสตร์ของตะวันตก
The Structure of Scientific Revolutions
Thomas Kuhn
หนึ่งในหนังสือที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุดเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 20 หนังสือเล่มนี้เสนอคำศัพท์ที่กำลังถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน คือคำว่า กระบวนทัศน์ (Paradigm) และ การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) และเนื่องจากผู้เขียนเป็นนักประวัติศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ ก็จะใช้คำศัพท์พวกนี้ในการอธิบาย ‘การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์’
ในวิทยาศาสตร์ภาวะปกติ จะมีระบบความคิดที่หมู่นักวิทยาศาสตร์ยอมรับกันอยู่ เรียกว่า Paradigm นี่แหละ แล้วนักวิทยาศาสตร์พวกนี้ก็ทำงานไป ค้นหา ทดลอง ไขปริศนา แต่พอทำงานเข้าเรื่อยๆ กลับค้นพบสิ่งผิดปกติที่ผิดเพี้ยนและขัดกับกระบวนทัศน์ เมื่อยิ่งพบมากขึ้นก็จะเกิดวิกฤติ ตอนนี้เองที่กระบวนทัศน์แบบเดิมจะเริ่มพัง และเกิดการค้นหากระบวนทัศน์ใหม่ๆ เรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า Paradigm Shift
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ที่ ทำไม The Structure of Scientific Revolution จึงเป็นหนังสือยอดนิยมของ Mark Zuckerberg
Democracy in America
Alexis De Tocqueville
หนังสือที่มีความสำคัญต่อการเมืองแบบระบบประชาธิปไตยในอเมริกา เขียนโดยชาวฝรั่งเศสที่เดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อศึกษาดูงานเรื่องการปฏิรูปเรือนจำของสหรัฐฯ หลักจากนั้น 10 เดือนจึงกลับฝรั่งเศสและเขียนหนังสือเล่มนี้ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นข้อสังเกตระบบประชาธิปไตยในอเมริกายุคแรกๆ เลยก็ว่าได้ ภายในหนังสืออธิบายถึงฐานรากวัฒนธรรมและสถาบันการเมืองของอเมริกา ตั้งแต่ โครงสร้างพหุนิยม สหพันธรัฐนิยม และประชาธิปไตยแบบตัวแทนของสาธารณรัฐ นอกจากนี้ยังอธิบาย ‘อันตราย’ จากระบบนี้ด้วย เช่น การที่ทรราชได้เสียงข้างมาก เป็นต้น
ใครที่อยากทำความเข้าใจโครงสร้างการเมืองของสหรัฐฯ ของอ่านเล่มนี้
The Communist Manifesto
Karl Marx and Friedrich Engels
เป็นหนังสืออีกเล่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้อธิบายทั้งเรื่อง ‘ชนชั้น’ ซึ่งเสนอว่าประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษย์นั้น คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้น หนังสือยังอธิบายถึงพรรคคอมมิวนิสต์ สังคมนิยมและการก่อตัวของทุนนิยมด้วย ใครสนใจเกี่ยวลัทธิสังคมนิยมเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.marxists.org/thai/index.htm ส่วนหนังสือฉบับภาษาไทยอ่านฟรีๆ ได้ที่เว็บไซต์เดียวกัน https://www.marxists.org/thai/archive/marx-engels/1848/communist-manifesto/index.htm
The Politics
Aristotle
หนังสือติดอันดับอีกเล่มโดยอริสโตเติล เล่มก็จะต่อยอดมาจาก Ethics นั่นแหละ โดยเล่มนี้จะตั้งคำถามวนเวียนเกี่ยวกับ ‘รัฐ’ เช่น สังคมควรจะเป็นยังไงให้คนในสังคมมีความสุข, รัฐบาลระบบไหนดีที่สุด? และจะทำยังไงให้ใช้ระบบเดิมต่อไปได้? ถือเป็นหนังสือที่พูดถึง ‘แก่น’ ของวิชาการปกครองเลย เด็กรัฐศาสตร์ต้องอ่าน เราคิดว่าถ้าอ่านคู่กับ Ethics จะเพิ่มความเข้าใจข้อเสนอของอริสโตเติลมากขึ้น :)
Credit Quartz