
หนึ่งในทุนจากรัฐบาลไทยที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ทุน ก.พ. (ทุนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ซึ่งมีมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2471 โดยรัชกาลที่ 7 เป็นผู้ให้ทุน เพื่อดำเนินการสอบคัดเลือกผู้เข้ารับราชการพลเรือน และจัดการศึกษาให้นักเรียนหลวงฝ่ายพลเรือนเพื่อส่งไปศึกษา ณ ต่างประเทศ
ปัจจุบันเป็นทุนในพระราชานุเคราะห์สมเด็จพระเทพฯ เชื่อว่าทุนนี้เป็นทุนที่หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินกันมานานแล้ว แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าเป็นทุนเกี่ยวกับอะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และมีกี่ประเภท คุณสมบัติของผู้รับทุนต้องเป็นอย่างไรบ้าง
ในเว็บม่วงอย่าง Pantip ก็มีข้อสงสัยเรื่องทุนก.พ.เยอะมาก วันนี้ทาง Hotcourse จะมาชี้แจงแถลงไขให้กระจ่างแจ้งกันค่า
ทุนก.พ คือ?
ทุน ก.พ. หมายถึง ทุนรัฐบาลที่จัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อมอบให้แก่ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการศึกษาในการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และมีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ที่ได้รับทุนนั้นนำความรู้และวิทยาการที่ได้จากการศึกษากลับมาพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
ผู้ที่ได้รับทุนจะต้องกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานราชการเป็นระยะเวลา 2 เท่า ส่วนผู้ที่รับทุนเล่าเรียนหลวงให้กลับมาทำงานที่ประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับเวลาที่รับทุน
ในที่นี้เราจะเน้นทุน 2 ประเภท ได้แก่
1. ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
2. ทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญา
ทุนระดับมัธยมปลาย
ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประจำปี 2564 เปิดรับสมัครสอบระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2563 (ในแต่ละปีจะเปิดรับสมัครในเวลาไล่เลี่ยกัน) ประกอบด้วยทุนทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่
1. ทุนเล่าเรียนหลวง (9 ทุน)
2. ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (55 ทุน)
3. ทุนกระทรวงการต่างประเทศ (5 ทุน)
4. ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (3 ทุน)
5. ทุนวิวัฒนไชยานุสรณ์ (1 ทุน)
โดยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ที่ศึกษาในระดับ ม.6 ปีการศึกษา 2563 มีอายุไม่เกิน 20 ปีนับถึงวันปิดรับสมัคร โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมระดับ ม.ปลายไม่ต่ำกว่า 3.50 สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและทำการสมัครทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ ที่นี่
ทุนระดับบุคคลทั่วไป
ในส่วนของทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญา ณ ปัจจุบันยังไม่มีประกาศประจำปี 2564 แต่ทาง Hotcourse จะขอชี้แจงรายละเอียดทุนประจำปี 2563 เพื่อเป็นแนวทางตัวอย่างเกณฑ์การรับสมัครของปีถัดไปค่ะ
ทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญา ประจำปี 2563 มีด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภท แบ่งเป็นดังนี้
1. ทุนรัฐบาลตามความต้องการของส่วนราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ (จำนวน 68 หน่วยทุน รวม 69 ทุน)
2. ทุนรัฐบาลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จัดสรรให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของกระทรวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ (จำนวน 204 หน่วยทุน รวม 205 ทุน)
3. ทุนสนับสนุนความต้องการส่วนราชการในภูมิภาค (Area-based) (จำนวน 3 หน่วยทุน รวม 3 ทุน)
4. ทุนรัฐบาลไปศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน (จำนวน 1 หน่วยทุน รวม 5 ทุน)
5. ทุนธนาคารแห่งประเทศไทย (จำนวน 13 หน่วยทุน รวม 25 ทุน)
ผู้สมัครสอบมีสิทธิสมัครได้ถึงคนละ 2 ประเภททุน และแต่ละประเภททุนให้เลือกสมัครได้ 1 หน่วยทุน สามารถศึกษารายละเอียดทุนแต่ละประเภทเพิ่มเติมได้ ที่นี่
คุณสมบัติของผู้สมัครทุนบุคคลทั่วไประดับปริญญา คือ
- เป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตร ป.ตรี คะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่แต่ละหน่วยทุนกำหนด) ได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 หรือ 3.00 (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่แต่ละหน่วยทุนกำหนด)
- ส่วนคนที่จบปริญญาโทหรือเทียบเท่า เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 (ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่แต่ละหน่วยทุนกำหนด) โดยจะต้องอายุไม่เกิน 35 ปี และไม่เกิน 40
- สำหรับผู้ที่สมัครทุนปริญญาเอก (ยกเว้นทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องอายุไม่เกิน 35 ปี) สามารถศึกษารายละเอียดทุนสำหรับบุคคลทั่วไประดับปริญญาแต่ละประเภทเพิ่มเติมได้ ที่นี่
ทุน UIS
Undergraduate Intelligence Scholarship Program (UiS) เป็นทุนสำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่สนใจทำงานเพื่อพัฒนาประเทศ ผู้รับทุนจะได้รับทุนในปีสุดท้ายของปริญญาตรี และเมื่อเรียนจบป.ตรี จะได้รับบรรจุและปฏิบัติงานราชการก่อน ก่อนจะไปเรียนที่ปริญญาโทในมหาลัยที่สอบได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ฝึกงาน ศึกษางานตลอดระยะเวลาการเรียนด้วย
โดยสาขาที่ไปเรียนต่อต้องสอดคล้องกับหน่วยงานที่สังกัดราชการอยู่ด้วย
คุณสมบัติ ต้องมีดังนี้
- ผู้สมัครต้องเป็นนักศึกษาปริญญาตรีปีสุดท้ายของสถาบันการศึกษาในประเทศ เช่น ถ้าหลักสูตร 4 ปี ต้องเป็นนักศึกษาปี 3
- มีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 สำหรับสายวิทยาศาสตร์ เกรดไม่ต่ำกว่า 3.00 สำหรับสายสังคม
โดยทุนจะมี 2 ระยะ คือ
ระยะแรก เป็นทุนสำหรับชั้นปีสุดท้ายของปริญญาตรี โดยต้องใช้ระยะเวลาเรียนไม่เกิน 1 ปี
ระยะที่ 2 เป็นทุนเรียนต่อป.โท โดยหลังจากเรียนป.ตรีจบแล้ว ต้องเข้ารับราชการก่อน 2 ปี (ต้องชดใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของระยะที่ได้ทุนไปแล้ว 1 ปี) หลังจากนั้นจะรับทุนเพื่อศึกษาต่อปริญญาโทในระยะที่ 2
สามารถอ่านรายละเอียดทุน UIS พร้อมดู timeline เวลาการรับทุนได้ที่นี่
สรุป
ทุนก.พ. เปิดรับสมัครหลายทุน หลายหน่วยงาน สำหรับบุคคลหลายประเภทด้วย แต่ข้อกำหนดที่เหมือนกันคือ ผู้รับทุนต้องมีเกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 2.75 - 3.00 ขึ้นอยู่กับทุนและสาขาที่จะสอบ ทุนมีให้ตั้งแต่ปริญญาตรี โทและเอก (มีครบ)
ทุนก.พ. ต้องสอบ?
ทุนก.พ. ก็ต้องสอบนะ!
โดยจะสอบข้อเขียน 2 ส่วนคือ ภาษาอังกฤษ และความสามารถทางวิขาการ
- ภาษาอังกฤษ มี 3 ส่วน ได้แก่
- Vocabulary and Expression
- Error Recognition
- Reading Comprehension
- ข้อสอบความสามารถทางวิชาการ มีทั้งหมด 80 ข้อเป็นภาษาไทยและคณิตศาสตร์อย่างละ 40 ข้อ
- ภาษาไทย: ข้อสอบจะมีการจับใจความ การสรุปใจความสำคัญของบทความ การวิเคราะห์และการใช้เหตุผล หาความเชื่อมโยงของคำ
- คณิตศาสตร์ : ข้อสอบพื้นฐาน ย้อนไปตอนม.ต้น เช่น อนุกรม ตรรกศาสตร์ คุณสมบัติของจำนวนจริง
ค่าใช้จ่าย
ค่าใช้จ่ายที่ทุนครอบคลุมจะแตกต่างไปตามประเทศ โดยเราขอยกตัวอย่างประเทศที่นักเรียนไทยนิยมไปเรียนต่อแล้วกันนะ
- สหรัฐอเมริกา: ค่าเล่าเรียน 756,780 บาท ค่าครองชีพ 314,370 บาท รวมทั้งหมด 1,071,150 บาท
- อังกฤษ: ค่าเล่าเรียน 578,730 บาท ค่าครองชีพ 331,020 รวมทั้งหมด 909,750 บาท
- แคนาดา: ค่าเล่าเรียน 554,220 บาท ค่าครองชีพ 226,110 บาท รวมทั้งหมด 780,330 บาท
- ออสเตรเลีย: ค่าเล่าเรียน 761,250 บาท ค่าครองชีพ 394,200 บาท รวมทั้งหมด 1,155,450 บาท
สามารถอ่านรายละเอียดค่าใช้จ่ายของประเทศอื่นๆ ได้ที่นี่
สำหรับใครที่สนใจทุน ก.พ. ก็อย่าลืมศึกษารายละเอียดของทุนในแต่ละประเภทให้ละเอียดก่อนตัดสินใจสมัครนะ เพราะทุนนี้มีข้อผูกมัดอย่างน้อยในอนาคตเลยก็คือต้องกลับมาใช้ทุนเป็นเวลา 2 เท่าของเวลาเรียน
แต่สำหรับใครที่รักและชื่นชอบงานสายวิชาการจริง ๆ อยู่แล้วก็คงจะไม่ได้ยากลำบากอะไรสำหรับการสมัครขอรับทุนนี้และคงทำงานได้อย่างมีความสุข ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับทุนและหน่วยงานได้ที่ https://www.ocsc.go.th/scholarship
สัมภาษณ์นักเรียนทุน UIS เจาะลึกเส้นทางพิชิตทุนก.พ. [ต้องอ่าน ประสบการณ์นักเรียนทุนก.พ. ทุน UiS ที่ครบถ้วนมากๆ]
Do & Don't สุดยอดเคล็ด (ไม่) ลับจาก 4 นักพิชิตทุน