
I've been on the low
I been taking my time
I feel like I'm out of my mind
It feel like my life ain't mine
Who can relate?
ฉันอยู่ในช่วงที่ตกต่ำตลอดมา
ใช้ชีวิตอยู่เรื่อยไป
รู้สึกเหมือนกำลังจะเป็นบ้า
รู้สึกเหมือนว่าชีวิตไม่ใช่ของตัวเองเลย
มีใครเป็นเหมือนกันบ้าง?
เดี๋ยวนี้เรื่องสุขภาพจิต (mental health) กลายมาเป็นเรื่องที่คนพูดถึงกันมากขึ้น เห็นได้จากในเพจหรือเว็บดังต่างๆ ที่มีท็อปปิคเกี่ยวกับสุขภาพจิตบ่อยขึ้น คนหันมาพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพจิต การรักษาอาการซึมเศร้า หรือแม้แต่การเล่าประสบการณ์ต่างๆ ทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัว
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้จะถูกพูดถึงกันมากขึ้นแต่บางครั้งการถูกยกขึ้นมาพูดก็จบไป เรื่องแบบนี้กว่าเราจะเข้าใจว่าเป็นอย่างไรก็คือตอนที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว วันนี้เลยมาคุยกันเรื่องนี้ดีกว่าว่าทำไมสุขภาพจิตถึงสำคัญ ในสังคมมหาวิทยาลัยทั้งประเทศไทยและต่างประเทศจัดการกันยังไง และในฐานะคนคนหนึ่งแล้วเราทำอย่างไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง :)
เพลงและเนื้อเพลงที่ยกมาข้างบนนั้นเป็นเพลงป๊อบร่วมสมัยที่หลายคนโดยเฉพาะวัยรุ่นอาจจะเคยได้ยินเพราะดังมากๆ อยู่ช่วงหนึ่ง ที่น่าสนใจคือชื่อเพลงของเพลงนี้คือ 1-800-273-8255 ซึ่งเป็นเบอร์สายด่วนองค์กรป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติของอเมริกา (National Suicide Prevention Lifeline) เป็นเพลงที่เขียนเกี่ยวกับคนที่ไม่สบายใจจนคิดสั้นอยากฆ่าตัวตายเพื่อให้เห็นถึงสภาพจิตใจของบางคนในสังคมที่อาจจะท้อแท้ ซึมเศร้า ผิดหวัง แถมยังเป็นเพลงที่กระตุ้นให้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพจิตได้มากขึ้นด้วย
Mental health - สุขภาพจิต
ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจกับคำว่าสุขภาพจิตก่อน สุขภาพจิต หรือ mental health หมายถึง ภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถปรับตัวแก้ปัญหา สร้างสรรค์ทำงานได้ มีความรู้ สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ อยู่ในสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
หลายคนคิดว่าเรื่อง mental health เป็นประเด็นที่พูดไม่ได้ (taboo) ในกลุ่มเพื่อนหรือสังคมทั่วไปเพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อน พูดเรื่องนี้คนอื่นจะคิดว่าเราเป็นบ้าหรือเขาคิดว่าเราเป็นบ้ารึเปล่า แต่จริงๆ แล้วเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญกันมากๆ เพราะว่าสุขภาพจิตสัมพันธ์กับสุขภาพกาย ถ้าสุขภาพจิตไม่ดีก็อาจจะส่งผลกับสุขภาพกายหลายๆ อย่าง
อีกอย่างการให้ความสำคัญของสุขภาพจิตทั้งของตัวเองและของคนอื่นจะช่วยรักษาความสัมพันธ์เราได้ด้วย
เหตุผลที่การพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ทุกๆ คนต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่เกิดกับคนใดคนหนึ่ง จิตแพทย์บอกไว้ว่าการหาตำแหน่งหรือที่ทางของตัวเองในสังคมมันเป็นการก่อความทุกข์ให้ตัวเองระดับหนึ่ง คนในสังคมโดยเฉพาะวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย เด็กที่เพิ่งจบที่กำลังค้นหาว่าตัวเองอยู่จุดไหนของสังคมต้องรับบทหนักเป็นที่มาของความเครียดได้ง่ายๆ
สุขภาพจิตกับสังคมมหาวิทยาลัย
ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยอาจจะดูไม่ซีเรียสในสายตาผู้ใหญ่ที่ผ่านมาแล้วแต่สำหรับวัยรุ่นที่เพิ่งได้ลองใช้ชีวิตที่ต้องจัดการอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเองครั้งแรกนั้นชีวิตในมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว บางครั้งงานที่หนัก ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลง เดดไลน์ที่เข้าใกล้เรื่อยๆ คะแนนสอบ เรื่องต่างๆ กลายมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับสุขภาพจิตเราได้หมดแถมพอมีปัญหากับสุขภาพจิตก็อาจจะส่งผลโต้กลับไปยังปัจจัยเหล่านั้นได้ เราอาจทะเลาะกับเพื่อน คะแนนเราอาจจะแย่ลง ส่งงานไม่ทัน การต้องรับอะไรคนเดียวบางทีก็ไม่ไหว หลายๆ ครั้งจะต้องมีคนเข้ามาช่วย
เพราะฉะนั้นในหลายๆ มหาวิทยาลัยเลยมีการจัดการหรือตัวช่วยให้กับนักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยอย่าง Student Wellness หรือศูนย์สุขภาวะนิสิตขึ้นมาที่ไม่ได้ดูแลแค่ร่างกายแต่ยังดูแลจิตใจอีกด้วย ❤
ส่วนใหญ่แล้วศูนย์ประเภทนี้จะมีทั้งในมหาวิทยาลัยไทยและต่างประเทศไม่ต่างกัน เช่นศูนย์สุขภาวะนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นสวัสดิการให้นักศึกษาเข้าไปใช้บริการปรึกษาเรื่องชีวิตมหาวิทยาลัยและอื่นๆ ได้
หรืออย่างของต่างประเทศเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องสุขภาพจิตกับเด็กมหาวิทยาลัยเลย หลายๆ ที่มีกิจกรรมหรือโครงการที่สนับสนุนการดูแลสุขภาพจิต เช่นใน Penn State University ในรัฐ Pennsylvania ประเทศอเมริกาก็มี Center for Collegiate Mental Health หรือแปลตรงตัวว่าศูนย์สุขภาพจิตนักศึกษาที่จะรวบรวมข้อมูลด้านสุขภาพจิตจากวิทยาลัยกว่า 400 แห่งทัวประเทศเพื่อทำฐานข้อมูลเรื่องความสุขภาพจิตและจัดการช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างที่ประเทศนิวซีแลนด์เองก็มีกิจกรรมคลายเครียดแบบต่างๆ เช่น การจัดโซนให้เล่นกับลูกหมา ผับ กิจกรรมนั่งบี้ห่อพลาสติกกันกระแทกแอร์บับเบิ้ล (555) ที่ Victoria University of Wellington ในช่วงสัปดาห์เตรียมไฟนอลเพราะคนเครียดกันหนักมาก เพราะว่าการคลายเครียดไม่ได้มีแค่การเสวนา นั่งพูดคุย ไปหานักจิตวิทยา แต่ยังหมายถึงการหากิจกรรมเบาๆ ผ่อนคลาย หรือแม้แต่การหันหน้าพูดคุยกับเพื่อนด้วยกันอีก
เด็กมหาวิทยาลัยหลายๆ คนคิดว่าตัวเองรู้สึกแย่คนเดียวหรือมีปัญหาคนเดียว แต่ถ้าลองคุยกับคนรอบตัวจะรู้ว่าทุกคนกำลังต่อสู้กับปัญหาของตัวเองอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มคุยเรื่องนี้กับเพื่อนยังไงลองเริ่มๆ ปรึกษาก่อนก็ได้ อย่างเช่น ช่วงนี้เรารู้สึกเหนื่อยจัง วิชาเอกตัวนั้นกดดันมาก เป็นเหมือนกันมั้ย ถ้าเราลองโยนหินถามทางไปก่อนว่าเราเป็นแบบนี้ รู้สึกแบบนี้บ้างมั้ย เหมือนเนื้อเพลง 1-800-273-8255 ที่ถามว่า Who can relate? เราจะรู้ว่ามีหลายๆ คน relate กับเรื่องนี้มากทีเดียว
เราอาจจะกำลังสู้กับปัญหาของตัวเองแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสู้กับมันคนเดียว
ใส่ใจกันและกัน
คลิปข้างบนเป็นคลิปการทดลองโดยให้เด็กจบใหม่ที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งานแรกในชีวิตเดินไปขอให้คนอื่นช่วยผูกไทให้หน่อยเราจะเห็นหลายๆ คนที่เข้ามาช่วยพูดถึงความลำบากในชีวิต การให้กำลังใจ ความเข้าใจผ่านทั้งคำพูดและท่าทาง
ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่จริงจังเรื่องการศึกษาและการทำงานมาก เพราะฉะนั้นแม้จะเป็นแค่การแสดงเล็กๆ น้อยๆ อย่างคำพูดแสดงความเข้าใจ การช่วยเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะบางทีการกระทำเล็กๆ น้อยๆ นั้นอาจจะช่วยรักษาบาดแผลในใจของใครหลายๆ คนให้มีความหวังต่อไปก็ได้
ในโลกที่วุ่นวาย ในสังคมที่เครียด ต้องรีบส่งงาน ต้องอ่านหนังสือสอบ บางทีแค่ความพยายามทำความเข้าใจกันและกัน การใส่ใจคนอื่น ก็อาจจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยพยุงสภาพจิตใจได้เหมือนกัน
พูดคุยเรื่องสุขภาพจิตกันไปแล้ว สำหรับใครที่สนใจเรียนด้านนี้หรือสงสัยว่ามีคณะหรือสาขาอะไรที่ให้ความสำคัญกับด้านนี้มั้ยลองศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาหรือว่าความรู้เรื่องจิตต่อได้เลย
เบอร์สายด่วนสุขภาพจิตไทย 1323
Source:
ศูนย์สุขภาวะนิสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เครียดมากเหรอ ได้! คุยกับจิตแพทย์ปทานนท์ ขวัญสนิท และหลากเรื่องจิตๆ ในสังคมไทย
Universities must adopt a proactive approach to mental health
What do student mental health services look like around the world?