
ไหนใครชอบทำการบ้านยกมือขึ้น....
(กริบ...)
แน่นอนว่าไม่ค่อยมีเด็กคนไหนชอบทำการบ้าน แต่อาจารย์ก็เหมือนจะไม่เข้าใจ ขยันให้การบ้านเราเหลือเกิน จริงไหมคะ แหม ตอนพี่เรียนก็ไม่ค่อยชอบการบ้านนะ แต่พอเป็นอาจารย์แล้วถึงเข้าใจว่า ที่อาจารย์ต้องให้การบ้านก็เพื่อให้เรานำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนไปทบทวนและประยุกต์ใช้ เพื่อให้เราเข้าใจในเนื้อหามากขึ้นนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าเกลียดการบ้านกันเลย มาแบ่งเวลาและตั้งใจทำการบ้านให้ดีที่สุดกันดีกว่า ฮุ ฮุ ฮุ...
(เนื้อหาในบทความนี้สรุปรวบรวมมาจากการสังเกตเพื่อนที่เรียนเก่ง นักเรียนที่มักจะทำงานได้คะแนนดี ประกอบกับประสบการณ์การเรียนต่อของตัวเอง เพราะฉะนั้นคงบอกไม่ได้ว่าวิธีไหนที่ดีที่สุดสำหรับใคร แต่อยากให้ลองนำไปประยุกต์ใช้กันนะคะ)
ชนิดของการบ้านที่เราจะเจอในการเรียนต่อมีอะไรบ้าง?
- Essay หรือเรียงความ ส่วนใหญ่จะกำหนดมาให้เขียนประมาณ 1,500 - 3,000 คำ เป็นการให้เราอธิบายประเด็นหรือหัวข้อต่างๆ (งานเดี่ยว)
- การนำเสนองานกลุ่มและรายงาน สองอย่างนี้มักจะมาคู่กัน โดยอาจจะมีโจทย์มาให้เราแก้ปัญหาด้วยทฤษฎีที่เราเรียนมา ที่สำคัญเรามักจะเจอเพื่อนร่วมทีมหลายแบบ ต้องรับมือกับทั้งงานและคนไปพร้อมกัน
- งานวิจัย (Research) วิทยานิพนธ์ (Thesis/Dissertation) หรือการค้นคว้าส่วนบุคคล (Individual Study) ซึ่งจะเป็นงานเพื่อการเรียนจบของแต่ละสาขาวิชา ส่วนจะทำอะไรก็ขึ้นอยู่กับการเลือกหัวข้อของเราเอง
พอได้การบ้านมาต้องทำอะไรก่อน?
1. วางแผน
เคล็ดลับของคนเรียนเก่งส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่การเริ่มทำงานให้เร็วที่สุด แต่เริ่มที่การวางแผน จัดลำดับความสำคัญ และวางตารางเวลาในการทำงาน ดังนั้นเราจะต้องเอางานของทุกวิชามาดูว่า มีจำนวนงานเยอะแค่ไหน ต้องส่งเมื่อไหร่ จากนั้นจึงดูว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง ถ้าเป็นงานกลุ่มจะต้องตกลงหัวข้อกันให้ดี จากนั้นจึงแบ่งงานกันพร้อมกับระบุวันที่จะนัดอัพเดทความคืบหน้าอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
2. หาข้อมูลก่อนเริ่มเขียน
วิธีการหาข้อมูลให้ครบถ้วนคือลองทำ Mind Map ประเด็นที่จะต้องหาข้อมูลก่อน แล้วลองค้นหาใน 4 แหล่งข้อมูลต่อไปนี้ นำมาเก็บไว้เป็นสต็อกข้อมูล ควรแบ่งเวลาหาข้อมูลเป็น 30-40% ของเวลาทำงานทั้งหมด
- ข้อมูลสำหรับ Literature Review หรือทบทวนวรรณกรรม ควรแบ่งโฟลเดอร์เป็นหัวข้อ และตั้งชื่อไฟล์ด้วยปีค.ศ. ที่ข้อมูลนั้นได้รับการตีพิมพ์ ตามด้วยหัวข้อและผู้แต่ง
- สิ่งที่ต้องวิเคราะห์จากบทความวิชาการ คือ วัตถุประสงค์การวิจัย วิธีและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย บริบทและกลุ่มเป้าหมาย และผลลัพธ์ที่พบ ซึ่งเราจะต้องลิสต์เก็บเอาไว้เพื่อนำมาประกอบการเขียนทีหลัง
- ถ้าเรียนที่อังกฤษ จะต้องพยายามมองจุดอ่อนและจุดแข็งของงานวิจัยอื่นๆ ให้ได้ด้วย เพื่อบอกว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยใด เพราะอะไร
3. หาสถานที่ทำการบ้านให้เหมาะสม
ถามตัวเองว่าเรามีสมาธิกับที่ไหนมากที่สุด บางคนชอบห้องสมุด บางคนชอบทำที่บ้าน บางคนชอบทำคนเดียว บางคนต้องมีเพื่อนคอยกระตุ้น พยายามพาตัวเองไปไว้ในที่ๆ จะมีสมาธิได้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรปิด Social Media ทุกชนิดก่อนเริ่มทำ
4. กำหนดปริมาณงานที่ต้องเสร็จในแต่ละวัน
ทำงานแต่ละชิ้นให้เสร็จภายในวันเดียวถ้าเป็นไปได้ แต่ส่วนมากงานที่ได้รับมักจะเป็นงานที่ต้องอาศัยการทำงานอย่างละเอียดและปริมาณเยอะ เพื่อไม่ให้ดินพอกหางหมู เราจึงต้องกำหนดปริมาณงานที่ควรทำให้สำเร็จในแต่ละวัน เช่น วันนี้ต้องหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ได้ 5 บทความ หรือเขียนให้ได้ 500 คำ เป็นต้น
5. ตรวจทานก่อนส่ง
ทั้งเรื่องความครบถ้วนของเนื้อหาตามที่อาจารย์กำหนด ไวยากรณ์ คำศัพท์ ตัวสะกด บรรณานุกรม จะตรวจด้วยตัวเอง ให้เพื่อนดูให้ หรือใช้โปรแกรมช่วยตรวจ Essay ตรวจให้ก็ได้ การตรวจแนะนำว่าควรเขียนให้เสร็จ 1 - 2 วันก่อนแล้วค่อยตรวจ เพราะถ้าเราตรวจทันที ความเคยชินจะทำให้เราหาข้อผิดพลาดไม่เจอ
สุดท้ายนี้ จะทำการบ้านได้ดีแค่ไหน อยู่ที่ความมุ่งมั่นและตั้งใจของตัวเราเอง คนเรียนเก่งส่วนใหญ่จริงๆ แล้ว ไม่ใชคนที่ IQ สูงที่สุด แต่เป็นคนที่ไม่ย่อท้อกับการเรียนรู้ และพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดต่างหาก ขอเอาใจช่วยให้ทุกๆ คนเอาชนะการบ้านให้ได้ก่อนถึงกำหนดส่งนะคะ