
ทุนสำหรับเหล่า Gamers ที่ไม่ได้ให้กันแบบเล่นๆ !
หากจะกล่าวถึง “จำเลยสังคม” ของประเทศไทยแล้วนั้น อันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นวงการ “เกม” เป็นแน่ เราหลายคนติดภาพจำกันว่าเกมทุกชนิดล้วนเป็นสิ่งไร้สาระ หนำซ้ำหากยิ่งเป็นเด็กโตที่เล่นเกมแล้วเนี่ย คงโดนมองว่าเป็นเด็กที่ไม่เอาไหนเป็นแน่
กระนั้น สี่ห้าปีที่ผ่านมานี้ สายตาที่เคยจับจ้อง คอยดุด่าเหล่าเด็กหลังหน้าจอคอมนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เสียงก่นด่าข้างหูกลายมาเป็นเสียงเชียร์ขอบสนาม เกมไม่ใช่เกมอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นหนึ่งในกีฬาในสายตาประชาคมโลก หลายประเทศในเวลานี้เริ่มจัดแข่งขัน E-sport ในบางเวทีนั้นอาจมีเงินรางวัลมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาทก็ได้
วงการเกมปัจจุบันเติบโตไปพร้อมๆ กับเหล่าเกมเมอร์ ซึ่งกลายมาเป็นช่องทางหารายได้และเป็นอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นผู้แข่งขันรายการ E-sport จนไปถึงนักแคสเกมด้วยนั่นเอง จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมหลายมหาวิทยาลัยจึงเริ่มเล็งเห็นถึงการ “จีบ” เหล่านักรบไซเบอร์เหล่านี้ ให้มีโอกาสได้เข้าไปเล่าเรียนในสาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัยของตนเองในราคาที่ถูกกว่า หรือกระทั่งฟรีไปเลยก็มี
สมาคมอีสปอร์ตแห่งชาติ, สหรัฐอเมริกา หรือ NACE ( National Association of Collegiate Esports) ถือกำเนิดขึ้นในปี 2016 ในเมืองแคนซัส สมาคมแห่งนี้สนับสนุนเหล่าเกมเมอร์และตั้งตัวเป็นศูนย์กลางสำหรับมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่สนับสนุนเกมเมอร์เหมือนๆ กัน ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในสังกัดกว่า 330 แห่ง พร้อมทุนสนับสนุนถึง 15 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ว่าคือ Robert Morris University Illinois ที่ที่กีฬา E-sports ถูกจัดเอาไว้ในหมวดเดียวกับแผนกการกีฬา นักกีฬาอีสปอร์ตของมหาวิทยาลัย สามารถเข้าร่วมการฝึกร่างกายแบบเบาๆ ก่อนเข้าร่วมการฝึกฝนในแต่ละวัน โดยเริ่มจากการนั่งดูเรคคอร์ดการแข่งขันในแต่ละครั้ง วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนที่ควรปรับปรุง และฝึกฝนกันตั้งแต่เวลา 16:30 - 19:30 ในทุกวันจันทร์-พฤหัส
“เกมที่มีการแข่งขันสูง ต้องอาศัยความเข้าใจ คนเป็นเกมเมอร์ต้องมีหัวในด้านการวางแผน และทำงานเป็นทีมได้อย่างดี พวกเขาจะต้องฝึกฝนทักษะจนชำนาญ ไม่เพียงแต่ฝึกตัวเอง แต่ต้องฝึกฝนภายใต้สภาพแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับคนอื่นด้วย” Kurt Melcher อธิบาย เขาเป็นหัวเรือใหญ่ของแผนกฝึกฝน E-sport ก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งนี้ เคิร์ทเคยเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ แต่ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งโคชทีมฟุตบอลนั้น เขาเริ่มสังเกตเห็นถึงวงการเกมที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เคิร์ทจึงกรอกใบเสนอโครงการจัดตั้งชมรม E-sport ให้กับทางมหาวิทยาลัยทันที
[ชวนอ่านบทความตำแหน่งงานรายได้สูงสุดในแวดวงไอที]
ปัจจุบัน นักศึกษามหาวิทยาลัยโรเบิร์ตมอร์ริสเล่นเกมกันเกือบ 90 เปอร์เซนต์ และได้รับทุนจากการเล่นอีสปอร์ตคิดเป็นร้อยละ 80 โดยผู้ลงแข่งขันอีสปอร์ตตัวจริงจะได้เงินสนับสนุนเป็นค่าเทอม 70 เปอร์เซนต์ ขณะที่ผู้เล่นสำรองจะได้ส่วนลดค่าเทอมถึง 35 เปอร์เซนต์
ทางด้านมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเออร์วิน (University of California Irvine) จัดการแข่งขันเกมเป็นหนึ่งในกิจการนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัยจะมีการสกรีนคัดตัวเหล่าเกมเมอร์ก่อนได้รับทุน ปัจจุบันมีนักศึกษาที่เป็นนักกีฬาอีสปอร์ตกว่า 23 คน และต้องปันสันเวลาราวๆ 15-20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เพื่อมาฝึกซ้อมกับเพื่อนร่วมทีมเป็นอย่างต่ำ
สำหรับนักศึกษาที่ไม่ใช่เกมเมอร์อาชีพโดยตรง หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาอย่าง New York University ก็มีการมอบทุนประจำปีสำหรับนักศึกษาที่เล่นเกมเป็นกิจวัตรและมีความสนใจอยากทำงานในอุตสาหกรรมเกมหลังเรียนจบ
น่าเชื่อมากเลยว่า การเริ่มให้ทุนสนับสนุนการศึกษาสำหรับเหล่าเกมเมอร์ อาจไม่เพียงหยุดอยู่เพียงเท่านี้ สักวันนึงเราอาจจะเห็นมหาวิทยาลัยในไทย จัดทุนสนับสนุนการเรียนการสอนสำหรับเหล่าเกมเมอร์จริงจังก็เป็นได้